Chinese Influence and Its Impacts on Southeast Asia
ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งปัจจุบัน จีนนับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในขณะเดียวกัน จีนได้ขยายการลงทุนและการค้าไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลกรวมทั้งอุษาคเนย์ พร้อมๆกันนั้น เรายังได้พบเห็นการเคลื่อนย้ายของชาวจีนข้ามชาติเข้ามาในอุษาคเนย์เป็นจำนวนมาก
โครงการนี้เป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจกับอิทธิพลและผลกระทบของมหาอำนาจใหม่ต่อประเทศไทยและภูมิภาคอุษาคเนย์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยอิทธิพลของทุนนิยมจีน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ตลอดจนผลกระทบของทุนนิยมจีนต่อประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน ความรู้ในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการหาคำตอบดังที่กล่าวมา นับว่าจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอาเซียนกับจีนต่อไปในอนาคต ตลอดจนมีความสำคัญในการกำหนดนโยบายการค้าและการลงทุนของไทยในอุษาคเนย์อย่างยั่งยืน
The website works with the China-Southeast Asian
Studies Center (CSC), Chiang Mai University. We aim to
promote academic knowledge and enhance social
equality and sustainability in ASEAN countries.
ศูนย์จีน-อุษาคเนย์ศึกษา China-Southeast Asian Studies Center (CSC)
"ศตวรรษแห่งสันติของเอเชียและความเข้าใจร่วมกันระหว่างจีนกับอุษาคเนย์"
“Peaceful Asian Century and China-Southeast Asian Mutual Understanding”
ศูนย์จีน-อุษาคเนย์ศึกษาจัดตั้งขึ้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ภายใต้คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นความพยายามในการประมวลและสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อผลักดันให้คณะสังคมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านนี้ และเพื่อผลักดันความร่วมมือทางวิชาการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำวิจัยและการเรียนการสอนในด้านจีน-อุษาคเนย์ศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาในประเทศและนานาชาติ
แผนงานดำเนินงาน 5 ด้าน
1. ดำเนินการวิจัยในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-อุษาคเนย์ พัฒนาองค์ความรู้ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบและค้นคว้าในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง
2. ทำงานร่วมกับสาขาสังคมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ในการส่งเสริมและแสวงหาทุนเพื่อสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ สร้างศักยภาพและการบูรณาการการศึกษาประเด็นความสัมพันธ์จีน-อุษาคเนย์ ภายในมหาวิทยาลัยผ่านการจัดการเรียนการสอนสังคมศาสตร์ ภูมิภาคศึกษา และประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์จากอดีตจวบจนปัจจุบัน
3 จัดเวทีทางวิชาการเพื่อสร้างข้อถกเถียงว่าด้วยประเด็นความสัมพันธ์จีน-อุษาคเนย์ ข้ามสาขาวิชาต่างๆ รวมทั้งจัดเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลและประเด็นต่างๆต่อหน่วยงานราชการและเอกชน
4 ขยายขอบข่ายและสร้างเครือข่ายวิชาการทั้งภายในประเทศ และนานาชาติ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงศูนย์ฯ กับสถาบันอื่นๆ ในประเทศไทย และในประเทศอื่นๆ โดยเน้น การสร้างทีมวิจัยระดับชาติ และระดับนานาชาติ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ รวมถึงการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่ผลงานไปสู่สากล
5 จัดหาแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-อุษาคเนย์ เพื่อการศึกษาวิจัยและการจัดการเรียนการสอน จัดทำหนังสือ วารสาร และสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ