top of page
รูปภาพนักเขียนchinaseasia project

เล่าเรื่องชายแดนเชียงของ วิกฤตการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน : Ep.2 การปรับตัวของบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์



ความเดิมจากตอนที่แล้วhttps://www.chinaseasia.net/post/chiangkhongstoriesep1 ความเงียบงันของบริเวณหน้าด่านที่ผู้คนและสินค้าถูกกีดกัน สะท้อนให้เห็นความพยายามในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ถ้าเราย้อนกลับไปในปี 2556 ช่วงเวลาที่นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้คนทั้งในพื้นที่นอกพื้นที่เชียงของ หรือแม้แต่นักวิชาการต่างจับตามองและเข้าไปมีกิจกรรมในเชียงของเพราะการเปิดสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 เป็นเส้นทางที่เชื่อมเข้ากับ R3A สามารถเดินทางไปจีนตอนใต้ด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่อาจเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนสองฝั่งโขงไม่ว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือลบก็ตาม และแน่นอนว่าพื้นที่หน้าด่านถูกจับจอง มันเปลี่ยนเป็นจากป่ารกร้างกลายเป็นตึกแถวที่คราคร่ำไปด้วยบริษัทชิปปิ้ง ส่วนใหญ่แล้วบริษัทเหล่านี้เปิดตัวในช่วงที่มีการเปิดสะพานนั่นเอง รวมถึงยังมีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของชาวจีนเพื่อดำเนินธุรกิจชิปปิ้งด้วย (การเปิดบริษัทของคนจีนในเชียงของมีตั้งแต่การลงทุนของบริษัทใหญ่มาจนทุนขนาดเล็กหรือใช้นอมินีในการจดทะเบียนบริษัทแทน)


หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19บริษัทชิปปิ้งต้องเผชิญกับการปรับตัวครั้งใหญ่เพราะมาตรการการจัดการของแต่ละประเทศเพื่อป้องการการระบาด ในเส้นทาง R3A จากเดิมที่สามารถขับรถตู้คอนเทนเนอร์ไปจนถึงบ่อเต็นซึ่งเป็นชายแดนลาว-จีนได้ ตั้งแต่มีโควิดต้องหยุดรถที่ห้วยทรายเพื่อเปลี่ยนหัวรถเป็นของลาวขับต่อ ทำให้ผู้ประกอบการชิปปิ้งมีต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งถูกสมาคมรถทางลาวเข้ามาแบ่ง ขณะที่มาตรการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรายวันทำให้สินค้าติดขัด ยังลามไปถึงคนขับรถที่ได้รับค่าจ้างน้อยลง งานลดลง นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงเกษตรชาวสวนไทยที่ส่งสินค้าไปจีนเพราะถูกกดราคาสินค้าเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง


เวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา การปรับตัวของบริษัทโลจิสติกส์และขนส่งในเชียงของถึงคราวของการโยกย้ายพนักงานไปมุกดาหาร นครพนม เพื่อช่วยในการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเนื่องจากสินค้าประเภทพืชผักและผลไม้ที่ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออก R3A ต้องปรับไปในเส้นทางเวียดนามแทน โดยผลกระทบนี้ไม่เพียงส่งผลให้กับเกษตรกรและบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ในไทยเท่านั้น แต่ยังกระทบไปยังเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจในจีนเพราะเป็นช่วงของการระบายสินค้าผักผลไม้หน้าหนาวของจีนด้วย แม้ผลกระทบนี้จะสร้างความยากลำบากต่อการระบายสินค้าของจีนในระยะเวลาหนึ่งแต่การเปิดตัวของรถไฟจีน-ลาวดูเหมือนจะกลายเป็นทางออกใหม่ที่สามารถขนส่งพืชผักผลไม้กว่าหลายล้านตัน การเปิดรถไฟความเร็วสูงนี้ได้ส่งผลกระทบผู้เกี่ยวข้องวงการขนส่งและชิปปิ้งไทย-ลาว โดยเฉพาะการขนส่งผ่านเส้นทางR3A ซึ่งผู้ประกอบการกังวลว่า หากยังไม่สามารถทำกิจกรรมขนส่งสินค้าได้เป็นปกติ สินค้าที่เคยผ่านในเส้นทางนี้อาจจะไม่หวนกลับมาอีกแล้ว เพราะผู้ส่งออกจีนอาจจะหันไปเลือกเส้นทางรถไฟแทน ผลลัพธ์ก็คือบริษัทเหล่านี้อาจจะต้องปิดตัวลงในไม่ช้า หรือมีแนวโน้มว่าอาจต้องย้ายบริษัทออกจากเชียงของไปแถบอีสานอย่างหนองคายหรือนครพนมแทนเพื่อให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจของตนเองต่อไปได้




เล่าเรื่องโดย ปลายฟ้า นามไพร


*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับผลกระทบต่อธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนไทย-จีน กรณีศึกษา ผู้ประกอบการชาวจีนในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)



ดู 49 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page