การเดินทางไปมาระหว่างไทย-ลาวในพื้นที่สองฝั่งเชียงของ-ห้วยทรายเป็นที่ทราบกันดีว่านอกจากการขนส่งสินค้าแล้ว ยังเป็นเส้นทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะข้ามไปโดยสารเรือหรือรถสู่หลวงพระบาง และยังมีกิจกรรมอื่นๆมากมาย เช่น การค้าขายระหว่างชายแดน ซึ่งหากเคยไปที่โลตัสเชียงของก็มักจะเห็นประชาชนชาวลาวมาซื้อของจำนวนมากเพื่อกลับนำไปขายที่ลาว ส่วนในภาคอื่นๆ เช่น การข้ามมาใช้บริการเชิงสุขภาพของชาวลาวในประเทศไทย มาเพื่อท่องเที่ยวหรือทานอาหารที่เชียงของก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในบริเวณชายแดน หลังชายแดนปิดตัวลงการเดินทางของผู้คนทั่วไปไม่สามารถทำได้ จะเหลือก็แต่เพียงหัวรถลากที่จะทำหน้าที่เข้าไปในด่านห้วยทรายประเทศลาวเพื่อเอาตู้สินค้าเข้ามาในประเทศไทย แต่การเข้าไปของหัวรถเหล่านี้กลับไม่ได้สูญเปล่า สายตาของพวกเราเหลือบไปเห็นกล่องโฟมจำนวนมากอยู่ที่หลังของตัวรถลากหลายๆคัน กลายเป็นคำถามที่เราครุ่นคิดว่าเอาไว้ทำสิ่งใด ทำไมรถหัวลากเหล่านี้จึงมีกล่องโฟมมากมายตั้งอยู่ด้านหลังรถ?
กระทั่งในวันหนึ่งเราเลือกเข้าไปทานอาหารในร้านแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงของ และได้เริ่มพูดคุยอย่างออกรสชาติกับเจ้าของร้านอาหาร ทั้งเรื่องราวของชีวิต การเปิดร้าน จนมาถึงผลกระทบในช่วงโควิด เจ้าของร้านเล่าว่า ก่อนที่จะมีโควิดเข้ามาทางร้านมีลูกค้าผู้มีฐานะจากลาวหลายคนเข้ามาทานอาหารที่ร้านอย่างเป็นประจำ ในช่วงหลังที่มีการล็อคดาวน์ร้านใช้วิธีการส่งอาหารให้ลูกค้าแทน สำหรับลูกค้าชาวลาวแน่นอนว่านี่คงเป็นคำตอบได้ว่ากล่องโฟมจำนวนมากที่อยู่หลังรถลากก็คือการส่งสินค้าเล็กๆน้อยๆของผู้ประกอบการในเชียงของนั่นเอง ทั้งนี้ของที่ส่งไปนั้นไม่ได้ถูกสั่งจากลูกค้าโดยตรง แต่น่าจะเป็นผู้รับหิ้วของในลาวเป็นคนจัดการในการสั่งสินค้าในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามการส่งสินค้ารูปแบบนี้ไม่ได้เป็นการส่งที่ถูกต้องหรือถูกระเบียบมาตรการนักแต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อข้ามไปมาไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีเช่นนี้แทน
อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามในการหาทางออกของผู้ประกอบการและผู้บริโภคเพื่อให้ยังสามารถค้าขายข้ามกันไปมาระหว่างที่พรมแดนประเทศปิด ถึงกระนั้นผู้คนที่เรากำลังพูดถึงนั้นก็เป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังทรัพย์ในการซื้อขายกันอยู่ ส่วนคนที่อยู่ระดับล่างลงมาก็แทบจะถูกกลืนหายไปไร้ทางเลือกหรือหนทางพอที่จะกระทำการใดๆได้ จะมีก็แต่เพียงคำบอกเล่าของผู้คนในชุมชนริมน้ำโขงที่พูดถึงการแอบขนสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ข้ามในยามวิกาลที่เป็นบางจุดเท่านั้นเอง แม้ผู้เขียนจะยังไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ แต่คำบอกเล่าดังกล่าวก็สะท้อนปฏิบัติการของผู้คนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับกฎระเบียบการควบคุมของรัฐที่แข็งทื่อ จนละเลยรายละเอียดชีวิตของผู้คนท้องถิ่นริมฝั่งโขงที่หาเลี้ยงชีพด้วยกิจกรรมการข้ามไปมา ขนส่งสินค้าและการค้าขายของรายย่อยระหว่างฝั่งลาวและไทย
เล่าเรื่องโดย ปลายฟ้า นามไพร
ตรวจทานและแก้ไขโดย ผานิตดา ไสยรส
*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ขอ้มูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับผลกระทบต่อธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนไทย-จีน กรณีศึกษา ผู้ประกอบการชาวจีนในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
Comments