top of page
รูปภาพนักเขียนchinaseasia project

เล่าเรื่องชายแดนเชียงของ วิกฤตการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน: Ep.4 ฤๅจะสิ้นแล้วเชียงของ The Logistics City



หลายปีที่ผ่านมาการเปิดสะพานเชียงของ การเกิดขึ้นของบริษัทชิปปิ้งและโลจิสติกส์ การเข้า-ออกของสินค้าผ่านเส้นทาง R3A สะท้อนให้เห็นว่าเชียงของเป็นประตูสำคัญของการเดินทางระหว่างไทยและจีน จึงเป็นเหตุให้มีการผลักดันเมืองเชียงของให้กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์หรือ “Logistics City” โดยการผลักดันนี้ยังรวมไปถึงการก่อสร้างโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้า และยังสร้างเสร็จแล้วในส่วนของเฟสแรก หากแต่ในปัจจุบันยังไม่มีการเปิดใช้ทำการเนื่องจากอยู่ระหว่างรอการเปิดหาเอกชนมาลงทุน และร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนต้องลงทุนค่าเครื่องมืออุปกรณ์ยกขน บริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ และรับผิดชอบในส่วนของการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) เป็นระยะเวลา 15 ปี อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นการดึงเอกชนมาร่วมลงทุนนั้นจะมีปัญหาเนื่องจากเหล่าผู้ลงทุนมองว่าไม่คุ้มค่า ส่อแววขาดทุนสูง ในตอนนี้ศูนย์เปลี่ยนถ่ายจึงยังว่างและรอวันที่จะเปิดการใช้งานหากมีผู้ร่วมลงทุนสนใจ ทำให้พื้นที่อันเป็นลานจอดรถว่างๆกลายเป็นพื้นที่ออกกำลังกายและไถสเก็ตของคนในชุมชน


ในช่วงนับตั้งแต่ตุลาคมผู้เขียนได้เสนอไปแล้วใน เล่าเรื่องชายแดนเชียงของ วิกฤตการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน : Ep.1 และ Ep 2 (https://www.chinaseasia.net/post/chiangkhongstoriesep1 https://www.chinaseasia.net/post/chiangkhongstoriesep2)แล้วว่ามีการปิดด่านทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าข้ามเข้า-ออกจีนได้ ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบนั้นก็มีทั้งผู้คนที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ชิปปิ้ง คนขับรถ ผู้ประกอบการ เกษตรกร ทั้งในไทยและจีน กระทั่งในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นวันชาติของประเทศลาวรวมถึงเป็นหนึ่งวันในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติลาว เพราะเป็นวันเปิดการใช้งานรถไฟจีน-ลาว อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยที่สุดในลาว รถไฟจะเดินทางไปมาระหว่างจีน เชื่อมต่อเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มาสิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ด้วยระยะทาง 922.5 กิโลเมตร ใช้เวลา 8 ชั่วโมง บริการของเส้นทางรถไฟนี้ให้บริการขนส่งทั้งผู้คนและสิ่งของ พบว่า มีสินค้าจากจีนจำนวนมากไหลทะลักผ่านเส้นทางรถไฟและขนส่งต่อเข้าสู่ประเทศไทยได้โดยการเปลี่ยนถ่ายมายังรถบรรทุกสินค้าอีกทอดหนึ่งผ่านด่านหนองคาย


ภาพของบรรดารถบรรทุกจำนวนมากที่จอดรอเข้าหน้าด่านหนองคาย ณ วันที่ 14 มกราคม 2565 (ถ่ายภาพโดยผานิตดา ไสยรส)


ผู้เขียนได้พูดคุยกับคุณสงวน ซ่อนกลิ่นสกุล ซึ่งเป็นรองประธานหอการค้าเชียงรายและผู้ประกอบการท้องถิ่นเชียงของ ได้เล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ของวงการชิปปิ้งในเชียงของให้พวกเราฟังว่า แรกเริ่มมีการประเมินการขนส่งสินค้าในเส้นทางรถไฟไว้ต่ำกว่าที่คิดและคาดว่าจะกระทบต่อการขนส่งทางรถไม่มาก เพราะยังเชื่อมั่นว่าเส้นทางขนส่งเชียงของยังคงได้เปรียบเรื่องระยะทางและการควบคุมคุณภาพสินค้าระหว่างขนส่งได้ดีกว่า แต่หลังจากเปิดการใช้งานรถไฟจีน-ลาว พบว่าตู้สินค้าที่ใช้ขนส่งผ่านรถไฟนั้นเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาดสี่สิบฟุตที่มีการติดตั้งตู้ขนาดห้าฟุตเพิ่มเข้ามา ซึ่งตู้นี้ทำหน้าที่เป็นตัวทำความเย็นให้กับตู้ ทำให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟสามารถควบคุมคุณภาพได้ มีระยะเวลาที่ชัดเจน ไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก ที่สำคัญคือราคาการขนส่งอาจจะถูกกว่าการมาทางรถเพราะเป็นการต่อขบวนกันมาในคราวเดียว ฉะนั้นแล้วนี่จึงถือเป็นวิกฤตของคนผู้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ในเชียงของโดยตรง และแม้จะมีการพูดถึงการก่อสร้างเส้นทางไฮเวย์ใหม่ระหว่างห้วยทราย-บ่อเต็นเพื่อใช้แทนเส้นทางเดิมที่เริ่มชำรุดและคดเคี้ยวก็ตาม คุณสงวนมองว่าคงเป็นไปได้ยากที่การขนส่งเส้นทางรถจะเทียบกับทางรถไฟได้ ทางออกที่มองเห็นมากที่สุดคือการต้องสร้างแรงดึงดูดผ่านการท่องเที่ยวสู่ภาคเหนือของไทยผ่านเส้นทาง R3A


รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว สะท้อนความยิ่งใหญ่ในการลงทุนเพื่อเชื่อมเส้นทางไปทั่วโลกของรัฐบาลจีน มุมมองการเชื่อมโลกทั้งใบนี้กลายเป็นพลังของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จีนมี วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทุนทรัพย์อันมหาศาล วิธีการในการต่อรองระหว่างรัฐ รวมถึงก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบไปในทุกเส้นทางที่จีนก้าวไป ขณะที่ประเทศไทยเองอยู่ในช่วงของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อไปเชื่อมกับเส้นทางนี้จึงจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงคุณประโยชน์และผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งหากมีการตั้งรับอย่างชาญฉลาดของผู้นำประเทศ การเตรียมความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการรู้เท่าทันต่อการรุกเข้ามาของจีนอย่างรอบด้าน ก็อาจจะช่วยลดแรงปะทะที่เกิดขึ้น และก่อให้เกิดการแสวงหาแนวทางเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันได้ในอนาคตอันใกล้นี้



เล่าเรื่องโดย ปลายฟ้า นามไพร

ตรวจทาน แก้ไขและถ่ายภาพโดย ผานิตดา ไสยรส


*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ขอ้มูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับผลกระทบต่อธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนไทย-จีน กรณีศึกษา ผู้ประกอบการชาวจีนในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดู 111 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page