ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ธุรกิจโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนโดยเฉพาะผู้ประกอบในพื้นที่ชายแดน ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก อันเนื่องมาจากการข้ามเขตแดนทั้งในระดับจังหวัดและระหว่างประเทศนั้นมีข้อจำกัดมากมายที่เหล่าบริษัทขนส่งสินค้าและการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ระบบ ระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ข้อมูลจากการลงพื้นที่วิจัยสนามที่พบ สอดคล้องกับข้อมูลของ พบกานต์ อาวัชนาการ (2563) ซึ่งอธิบายว่า ภายหลังที่ทางการไทยปิดชายแดนจนเหลือไว้เพียงด่านสากลที่อนุญาตให้เปิดเพื่อการค้าเท่านั้น โดยด่านสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ –ห้วยทราย) ยังคงเปิดให้บริการเพื่อส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว-จีน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การเกิดอุปสรรคทางการค้าที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ เนื่องจากรัฐบาลลาวได้ออกระเบียบและมาตรการใหม่ คือ การปรับอัตราภาษีขาเข้าโดยสินค้าที่เข้ามาจะถูกเก็บภาษีโดยศุลกากร และยังถูกตรวจและเก็บภาษีจากหน่วยงานด้านการค้าอีกครั้ง[1]
นอกจากนี้ ระเบียบการเดินทางขนส่งสินค้าในประเทศลาวมีมาตรการไม่ให้คนขับรถจากทั้งไทยและจีนเข้าไปในประเทศ โดยมีข้อยกเว้นสำหรับคนไทยคือ ให้สามารถขับรถเข้าไปใน สปป.ลาวได้ถึงแขวงห้วยทรายเพื่อไปลงของหรือ "ส่งตู้" แต่ต้องกลับออกไปภายใน 7 ชั่วโมง[2] และ "หัวรถบรรทุก" ต้องเปลี่ยนเป็นหัวของลาว ส่วนตู้คอนเทนเนอร์หรือเรียกว่า "หาง" ยังคงเป็นของประเทศต้นทาง แต่ใช้ "หัวรถบรรทุก" ของลาวลากต่อไป วิธีการดังกล่าวนี้สร้างปัญหาต่อทั้งสินค้าและบริษัทขนส่งเป็นอย่างมาก เนื่องจากเส้นทาง R3A ค่อนข้างคดเคี้ยว ต้องอาศัยความชำนาญ พอเปลี่ยนหัวรถเป็นของลาว คนขับที่ลาวนั้นไม่คุ้นเคยกับเส้นทางทำให้เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ สร้างความเสียหายต่อสินค้าและระบบขนส่ง
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ประเทศลาวเกิดโอกาสในพัฒนาการแข่งขันของ บริษัทโลจิสติกส์ภายในประเทศอย่างคึกคัก จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายของทีมวิจัยพบว่า ธุรกิจการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนกำลังมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยผู้ประกอบการบริษัทชิปปิ้งท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่า “ในตอนนี้ที่ฝั่งห้วยทรายมีบริษัทชิปปิ้งเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีการพัฒนาจากเดิมทั้งคุณภาพและมาตรฐาน เนื่องจากเดิมการเดินรถในลาวนั้นจะเป็นคนไทยจนมีความคุ้นชินกับเส้นทาง แต่ในตอนนี้ที่ต้องใช้คนขับรถเป็นคนลาวแทน บริษัทในลาวที่รับช่วงต่อก็ค่อยๆพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโลจิสติกส์ในลาวเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจโลจิสติกส์ลาวก็เติบโต การแข่งขันก็สูงและทำให้ต้นทุนการขนส่งไม่ได้สูงเหมือนตอนที่มีการปิดชายแดนช่วงแรกๆ”[3]
ท่ามกลางวิกฤต และข้อจำกัดต่างๆ ข้อมูลเบื้องต้นที่พบสะท้อนให้เห็นการดิ้นรน และพยายามปรับตัวของภาคธุรกิจการขนส่งชายแดน ไทย-ลาว-จีน เพื่อให้การขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การขนส่งข้ามพรมแดนผ่านเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ที่เชื่อมต่อกับถนน R3A ขึ้นไปสู่ตอนใต้ของจีนนั้น ถือเป็นเส้นทางขนส่งทางบกที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งข้ามพรมแดนเพิ่มมากขึ้นจากทั้งผู้ประกอบการชาวไทยและชาวจีน คำถามที่น่าสนใจคือ สถาการณ์วิกฤตโรคระบาด กฎระเบียบ การจัดการการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งภายใต้อิทธิพลแนวคิด Belt and Road ของประเทศจีน จะส่งผลกระทบหรือสร้างโอกาสอย่างไรต่อผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยชิ้นนี้จะได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในระยะต่อไป
[1] พบกานต์ อาวัชนาการ 2563 NEW NOT NORMAL การค้าชายแดน ณ เชียงของ-ห้วยทราย: ใครจะล้ม ใครจะรอด สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 เข้าถึงจาก http://rs.mfu.ac.th/obels/?p=1924
[2] ชิปปี้งเชียงของสะพานมิตรภาพ4 By Sabaydee Imp-Exp. 2563. เข้าถึงเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2563. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/SABAIDEEIMPORTEXPORT/posts/1334556503568498
[3] ข้อมูลจาก ผู้ประกอบการบริษัทชิปปิ้งแห่งหนึ่งในเชียงของ สัมภาษณ์เมื่อ 31 มีนาคม 2564
ปลายฟ้า นามไพร : เรียบเรียง
วิษณุ ดวงปัน : สัมภาษณ์
ผานิตดา ไสยรส : ถ่ายภาพ
โครงการวิจัยย่อย 2 “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับผลกระทบต่อธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนไทย-จีน กรณีศึกษา ผู้ประกอบการชาวจีนในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย
Comments