STORIES
from the Ground
เมื่อรถไฟความเร็วสูงจะผ่านหน้าบ้านฉัน : เสียงสะท้อนของชุมชนในโคราช
ผลกระทบของการสร้างเส้นทางรถไฟ
โครงการการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา ตามสัญญาการก่อสร้างและการวางระบบจะต้องเสร็จสิ้นในส่วนระยะที่ 1 หรือระยะทางจากกรุงเทพมหานครถึงเมืองนครราชสีมา (โคราช) และสามารถเปิดการใช้งานในปี 70 โดยปัจจุบัน (มีนาคม 2565) การก่อสร้างซึ่งแบ่งออกเป็นระยะ มีทั้งสิ้น 14 สัญญา บางส่วนมีความคืบหน้าไปมาก ขณะเดียวกันบางระยะยังคงติดปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เชิงประวัติศาสตร์ของสถานีอยุทธยา ปัญหาการส่งมอบบางพื้นที่ของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า ปัญหาการออกแบบที่สร้างความกังวลใจต่อประชาชน ทั้งนี้โครงการวิจัย รถไฟจีนข้ามพรมแดน:การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทำการสำรวจใน 3 ชุมชนรอบสถานีหลักซึ่งรับผลกระทบจากกรณีการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ดังนี้
1. ชุมชนบ้านมั่นคงในบ้านพะไล ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา ชุมชนพะไลเป็นชาวริมรางย่าโมซึ่งมีปัญหาการถูกไล่รื้อจากพื้นที่ริมรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ชุมชนประสพสุข ชุมชนเลียบนคร ชุมชนไบเล่หลังจวนผู้ว่าฯ ชุมชนราชนิกูล 1 ชุมชนราชนิกูล 3 ชุมชนเบญจรงค์ ชุมชนทุ่งสว่าง – ศาลาลอย คนในชุมชนผ่านการต่อรองกับการรถไฟฯมาเป็นเวลากว่า 3 ปี จนในที่สุดได้ทำการรื้อถอน “บ้าน” เพื่อมาอยู่อาศัยในบ้านชั่วคราว เตรียมสร้าง “บ้านใหม่” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงผ่านการสร้างข้อตกลงกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)หรือพอช. บนการเช่าพื้นที่ของการรถไฟฯ ตามเงื่อนไขนั่นเอง อย่างไรก็ตามการต่อสู้ต่อรองมาอย่างยาวนานทำให้พวกเขาเผชิญกับความเหนื่อยล้า บางส่วนต้องสละเวลาทำงานและรายได้มาทำงานกับเพื่อชุมชน เป็นตัวแทนที่ต้องคอยรับข้อมูลเพื่อประสานกับคนในชุมชน ขณะเดียวกันยังต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร ตั้งแต่การทำความเข้าใจกับระบบทางราชการ การถมดิน การก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบของราชการ แม้ว่าความยุ่งยากเหล่านี้จะมากมายเพียงใด การสร้างชุมชนใหม่เป็นทางเลือกไม่กี่ทางสำหรับพวกเขา การเริ่มต้นของชุมชนใหม่ในปัจจุบัน เป็นการเตรียมพื้นที่ในการก่อสร้าง มีเพียงบ้านชั่วคราวไม่กี่ห้องสำหรับผู้ถูกรื้อถอนบ้านเร่งด่วน ยังคงอยู่ในกระบวนการต่าง ๆ เช่น การถมดิน การหาผู้รับเหมา เป็นต้น อีกทั้งยังอยู่ในขั้นตอนพูดคุยกันภายในคณะกรรมการชุมชนในการสร้างอาชีพเพื่อดูแลผู้เดือดร้อนจากการย้ายออกจากพื้นที่เดิม ในกรณีการว่างงาน ไม่สามารถเดินทางไปทำงานในเมืองได้ดังเดิม เปลี่ยนสายงาน การดูแลกลุ่มคนเปราะบาง โดยมีแนวคิดการทำโรงงานปลาส้มส่งขายซึ่งอยากให้เป็นวิสาหกิจของชุมชน การปลูกผักในพื้นที่รอบ ๆ และยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ชุมชนยังคงต้องเผชิญกว่าที่บ้านของพวกเขาจะแล้วเสร็จ
(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีไล่รื้อในจังหวัดโคราช https://www.chinaseasia.net/storiesofkorat2)
อ่านเพิ่มเติม
พ่อนิยม (หนึ่งในผู้ถูกไล่รื้อจากชุมชนประสพสุข) อธิบายถึงถนนเส้นใหม่ที่จะมีการตัดผ่านมายังชุมชน เนื่องจากถนนเส้นเดิมนั้นเป็นพื้นที่ของการรถไฟ อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ไม่สามารถสัญจรไปมาดังเดิมได้อีกต่อไป ทำให้ต้องมีการตัดถนนเส้นใหม่ แต่ยังคงไม่ทราบว่าเมื่อใด เป็นเพียงคำบอกกล่าวจากหน่วยงานรัฐเท่านั้น
2. ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จังหวัดนครราชสีมา การก่อสร้างสัญญาที่ 3-5 งานโยธาในตำบลโคกกรวด-นครราชสีมา มีการก่อสร้างทั้งรูปแบบตอม่อ และคันดิน ในชุมชนตำบลบ้านใหม่มีการวางออกแบบให้เป็นคันดินระยะ 7.85 กิโลเมตร ซึ่งสร้างความกังวลต่อประชาชนด้วยความกลัวว่า ชุมชนจะถูกแยกออกเป็นสองฝั่ง พื้นที่ก่อสร้างที่เดิมน้ำท่วมในทุกปีๆจะกลายเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมหนักขึ้น รวมถึงทางลอดใต้รางรถไฟที่รถคันใหญ่ซึ่งแม้แต่รถดับเพลิงอาจจะผ่านไม่ได้ ในที่สุดจึงเกิดการรวมตัวกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ 2020 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบ มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรถไฟ ปัญหาที่เผชิญตั้งแต่เริ่มมีการก่อสร้าง และทำหนังสือยื่นไปยังองค์กรต่าง ๆ ของรัฐตั้งแต่ระบบจังหวัดไปจนถึงนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้การก่อสร้างต้องหยุดชั่วคราวเพื่อให้มีการทบทวนแบบการออกแบบอีกครั้ง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ 2020 ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มได้รับการแจ้งว่ามีการส่งแก้ไขแบบจากประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการยกระดับขึ้นเป็นตอม่อตามที่ได้มีการเรียกร้องไป แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ “…ผมยังไม่เชื่อใจอยู่ดี” สมาชิกกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ 2020 กล่าว สิ่งที่จะทำให้เชื่อใจว่าแบบมีการแปลงเปลี่ยนก็คือการมีหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล
(อ่านเพิ่มเติมกรณีข้อเรียกร้องปรับแบบจากคันดินเป็นตอม่อชุมชนบ้านใหม่ https://www.chinaseasia.net/storiesofkorat1)
3. ตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา การออกแบบรถไฟความเร็วสูงยังคงสร้างความกังวลใจให้แก่ประชาชน จนเกิดการเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนในพื้นที่อื่น ๆ อีกมากมาย โดยในตำบลกุดจิก ซึ่งเป็นเส้นทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสัญญาที่ 3-4 ช่วงกุดจิก-โคกกรวด เป็นคันดินทั้งหมดระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำคันดินขึ้นไปแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยระหว่างนี้ประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบ เกิดน้ำท่วมขังในแปลงนา มีความกังวลว่าการก่อสร้างนี้อาจจะแบ่งเมืองออกเป็นสองส่วน รวมถึงทางลอดที่ใช้ข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งรางที่คับแคบ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปรับแบบเช่นเดียวกันกับชุมชนบ้านใหม่ ตัวแทนประชาชนในพื้นที่กล่าวต่อทีมวิจัยว่า ทางโครงการไม่ได้มีการชี้แจงอย่างชัดเจนว่าการก่อสร้างนั้นจะเป็นอย่างไร “...ที่เราไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องแต่แรกเพราะเขาไม่เคยบอกว่าจะมีผลกระทบยังไง” โครงการของรัฐไม่เคยมีการชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนให้แก่ประชาชนได้รับฟัง ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่เริ่มตื่นตัวและได้ร่วมกันลงชื่อ และยื่นข้อเรียกร้องไปที่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดปรับเปลี่ยนแบบก่อนที่จะมีการสร้างแบบคันดินจนแล้วเสร็จ
ตัวอย่างคันดินที่สร้างเสร็จในอำเภอสูงเนิน จ.โคราช, การก่อสร้างคันดินที่กำลังสร้างความกังวลให้กับประชาชนในกุดจิก และการเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแบบการก่อสร้างของชาวกุดจิก
จากทั้งสามกรณี การพูดคุยกับตัวแทนประชาชนเป็นภาพสะท้อนความกังวลของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐที่สร้างความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในแต่ละกลุ่มมีความพยายามในการหาทางออก ใช้กลวิธีต่าง ๆ ตามแนวทางและทรัพยากรของตนเอง เพื่อให้บรรลุถึงข้อเรียกร้อง ทั้งนี้ในความเห็นส่วนใหญ่ชี้ว่า พวกเขาไม่ได้มีปัญหากับรถไฟความเร็วสูง ความเจริญที่จะเข้ามาบ้านเมืองนั้นถือเป็นเรื่องดี แม้ว่าการก่อสร้างนี้จะมีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ต่อตนเองก็ตาม แต่เมื่อสิ่งก่อสร้างเหล่านี้อาจสร้างปัญหาให้กับบ้านของพวกเขา ข้อเรียกร้องเดียวของพวกเขาคือ การแก้ไขจากรัฐที่จะไม่ทำให้พวกเขาต้องทนทุกข์จากการพัฒนาที่เกิดขึ้น มิเช่นนั้นแล้ว รถไฟที่วิ่งผ่านหน้าบ้านคงไม่ต่างจากฝันร้ายที่จะคอยหลอกหลอนพวกเขาไปอีกหลายชั่วอายุคน
* ขอขอบพระคุณเครือข่ายริมรางย่าโมทุกท่าน พี่เอก และพี่เอ๋ ผู้เสียสละเวลาและกรุณาให้ข้อมูล พาสำรวจ เยี่ยมชมพื้นที่ชุมชน อธิบายอย่างละเอียดต่อผู้วิจัยในครั้งนี้ ขอขอบพระคุณพี่ต๊ะ สำหรับทุกความช่วยเหลือ การประสานงาน และการให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาโดยตลอด
** ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566
*** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย