top of page
แองเคอ 1
IMG_6060.heic

“ไม่นานเกินรอ” บันทึกการเดินทางสำรวจหน้างานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง :

การทำงานของวิศวกรไทย วิศวกรจีน ปัญหาและอุปสรรคของงานก่อสร้าง

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยสำหรับประเทศไทย และยังเป็นเรื่องยากต่อการทำความเข้าใจว่า การก่อสร้างครั้งนี้ทำอย่างไร ใครสร้าง จีนเข้ามาทำอะไร แล้วไทยทำอะไร จะได้ใช้งานเมื่อใด หรือแม้แต่งบประมาณนั้นมาจากไหน ใช้งบไปเท่าไหร่ เราต้องกู้จากไหน คนไทยจะเป็นหนี้จากการสร้างรถไฟครั้งนี้หรือไม่ คำตอบของสิ่งเหล่านี้มีรายละเอียดอยู่มากและอาจเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนทั่วไปที่จะเข้าใจได้โดยง่าย ฉะนั้นเพื่อทำความเข้าใจต่อการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น โครงการวิจัยรถไฟจีนข้ามพรมแดน:การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อทำให้ข้อมูลในการก่อสร้างครั้งนี้มีความกระจ่างมากยิ่งขึ้น

IMG_6076.heic

จังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดแรกในภาคอีสานที่มีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ทีมวิจัยจึงเลือกเดินทางไปที่โคราช โดยพยายามเข้าไปขอความรู้องค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอย่างรอบด้าน ตั้งแต่สถานีรถไฟ นายสถานี แขวงบำรุงทางนครราชสีมา อบต.ที่มีการก่อสร้างขึ้นอยู่ในเขตที่รับผิดชอบ ประการสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ รูปแบบการทำงานของการรถไฟที่มีการแยกบทบาทและอำนาจอย่างชัดเจน กล่าวคือ นายสถานีหรือแม้แต่สารวัตรแขวงบำรุงทาง ต่างมีหน้าที่ที่อยู่ในขอบเขตของตนเอง นายสถานีแต่ละแห่งให้ความสำคัญกับการบริหารงานในขอบเขตของสถานีตนเองเป็นหลัก และมีข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงค่อนข้างจำกัด ขณะที่แขวงบำรุงทางมีหน้าที่ในการซ่อมบำรุงรางรถไฟในเขตรับผิดชอบของตนเอง เมื่อมีการก่อสร้างเข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบ หน้าที่ของแขวงบำรุงทางคือการรับเรื่องเพื่อประสานการทำงานให้การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงดำเนินต่อไปได้อย่างสะดวก ส่วนการจะทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมากกว่านั้น ทีมวิจัยได้รับคำแนะนำให้ประสานไปที่การรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรง โดยเฉพาะประเด็นการทำงานร่วมกับวิศวกรชาวจีน

อ่านเพิ่มเติม

เนื่องด้วยทีมวิจัยยังคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการทำความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงได้มากนัก และคาดการณ์ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการก่อสร้างของโครงการยังมาไม่ถึงตัวอำเภอเมืองจังหวัดโคราช ทีมวิจัยจึงได้ลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติมในอำเภอปากช่องซึ่งการก่อสร้างมีความคืบหน้าอยู่มาก เริ่มตั้งหลักจากสถานีรถไฟปากช่อง โดยนายสถานีรถไฟปากช่องได้อนุเคราะห์ข้อมูลการติดต่อไปยังเสมียณของโครงการก่อสร้างฯ ในอำเภอปากช่อง ซึ่งได้ขอให้พวกเราประสานต่อไปที่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างซึ่งอยู่ภายใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อทำเรื่องขอเข้าสัมภาษณ์กับทีมนายช่างหรือวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยตรง

ช่วงเช้าของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ทีมวิจัยเดินทางมาถึงสำนักงาน SRT-CSC-PMC Temporary Office of High Speed Railway Project ในอำเภอปากช่อง ภาพแรกที่เราเห็นคือเสาธงชาติไทยสูงเด่นตั้งตระหง่านด้านหน้าอาคารสำนักงานทั้งสามหลัง อาคารกลางติดป้ายสัญลักษณ์การรถไฟจีนสีแดงสะดุดตา  พื้นที่ลานจอดรถคอนกรีตขนาดใหญ่ ถูกจัดแบ่งสัดส่วนชัดเจนด้วยป้ายระบุชื่ออักษรย่อภาษาอังกฤษของแต่ละสำนักงาน โดยสำนักงานใหญ่แห่งนี้ ประกอบไปด้วย 3 สำนักงานย่อย ได้แก่ 1. SRT หรือ State Railway of Thailand การรถไฟแห่งประเทศไทย ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง 2. CSC หรือ Construction Supervision Consultant ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 3. PMC หรือ Project Management Consultant ที่ปรึกษาบริหารโครงการ

IMG_6343.heic

จากการพูดคุยในเบื้องต้นทาง SRT วิศวกรใหญ่ผู้ควบคุมงานก่อสร้างได้อัพเดตงานของการก่อสร้างในแต่ละช่วงว่าเป็นอย่างไรบ้าง ปัญหาที่พบเจอซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้า ได้แก่ 

1. ปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้างสถานีพระนครศรีอยุธยาอันเป็นพื้นที่มรดกโลก ซึ่งต้องมีการได้การทำ HIA เพิ่มเติม 

2. ความล่าช้าของการเวนคืนที่ดิน พระราชกฤษฎี "เวนคืนที่ดิน" ที่ออกมาช้า ทำให้การส่งมอบพื้นที่เวนคืนยิ่งช้าไปด้วย

3. การดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ เพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

4. ปัญหาเรื่องโรคระบาดโควิดซึ่งกระทบในทุกภาคส่วน

5. กรณีการฟ้องร้องการประมูลในสัญญาที่  3-1

6. ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบ โดยหลัก ๆ คือการเปลี่ยนจากคันดินให้เป็นยกระดับหรือตอม่อ

7. การขอคืนพื้นที่ เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันการก่อสร้างยังเจอกับปัญหาภายในโดยเฉพาะการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐในฝ่ายต่าง ๆ เช่นการทำเรื่องอนุมัติการก่อสร้างข้ามคลอง การตัดต้นไม้ใหญ่ การก่อสร้างในพื้นที่ของกรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องของขั้นตอนและระเบียบราชการที่ซับซ้อน

IMG_6311_edited.jpg

ขณะที่หน้าที่ของ CSC เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง มีทั้งวิศวกรจีน และคนไทยซึ่งทำหน้าที่ประสานงานและล่าม CSC จะแบ่งงานกันออกเป็นทีมตามพื้นที่ 5 พื้นที่ได้แก่ เชียงรากน้อย ภาชี สระบุรี ปากช่อง และสูงเนิน - โคกกรวด ซึ่งในแต่ละทีมมีทั้งคนจีนและคนไทย และผู้บริหารชาวจีนคอยควบคุมทีมทำงาน โดยทั้งหมดจะต้องทำงานซึ่งมี TOR ตามเงื่อนไขสัญญาภายใต้กฎหมายแรงงานไทย สำหรับกระบวนการทำงานนั้น วิศวกรชาวจีนจะยึดหลักการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานรถไฟจีน ทีมงานไทยจึงจำเป็นต้องมีปรับตัวในการทำงานร่วมกัน อาทิ การออกแบบรถไฟที่มาจากจีนทั้งหมด เนื่องจากไทยไม่มีความรู้เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ฉะนั้นในช่วงที่มีการออกแบบ ประเทศจีนได้ส่งทีมงานจากจีนมาสำรวจพื้นที่ และนำข้อมูลเหล่านั้นกลับประเทศจีนเพื่อออกแบบการก่อสร้าง อย่างไรก็ดี ด้วยการออกแบบที่เน้นวัสดุอุปกรณ์ตามแบบรถไฟจีน ทำให้เกิดความยากลำบากในช่วงแรกที่ว่าฝั่งไทยจะสามารถทำได้หรือไม่ รวมทั้ง ปัญหาการออกแบบที่ขาดความเข้าใจบริบทพื้นที่เมืองและชุมชนของไทย ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าเพราะติดปัญหาการขอคืนพื้นที่

 

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องมีการปรึกษาหารือและต่อรองในกระบวนการก่อสร้างอยู่เสมอคือ มาตรฐานการก่อสร้างรถไฟจีน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มากเกินกว่าราคาที่ไทยจะจ่ายได้ หากเกิดความผิดพลาด การแก้ไขงานนั้นมักนำมาซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทที่ปรึกษาจีนจะมีบทบาทสำคัญมากในการตรวจและควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานจีนอย่างเคร่งครัด ขณะที่ฝ่ายการรถไฟไทยมีบทบาทสำคัญในการดูแลและจัดการให้งานก่อสร้างสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้งบประมาณที่สมเหตุสมผล โดยต้องประสานทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายเอกชนที่รับช่วงงานก่อสร้างให้สามารถเข้าพื้นที่ ทำงานได้อย่างราบรื่นตรงตามเงื่อนไขและกรอบงบประมาณมากที่สุด

ทั้งนี้ การทำงานของการรถไฟไทยเป็นเพียงผู้รับผิดชอบในงานโยธาเท่านั้น เมื่องานก่อสร้างเสร็จสิ้น หลังจากนี้จะเป็นทางฝ่ายจีนเข้ามาติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ขณะที่ระบบการเดินรถ กระบวนการเตรียมการเปิดใช้งาน หรือแม้แต่งานบริการยังเป็นประเด็นที่ไม่มีข้อมูลชัดเจนนัก 

ข้อสังเกตเบื้องต้นของทีมวิจัยพบว่า ลักษณะการทำงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีการแบ่งฝ่ายรับผิดชอบแต่ละส่วนงานอย่างชัดเจน บุคลากรแต่ละส่วนในองค์กรการรถไฟฯ ให้ความสำคัญเฉพาะหน้าที่ในเนื้องานของตนเองเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับการรอรับคำสั่งจากส่วนกลางหรือจากผู้บังคับบัญชา แต่ละฝ่ายมีความระมัดระวังการทำงานที่อาจก้าวก่ายฝ่ายอื่น สะท้อนภาพวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรที่มีลักษณะแข็งตัว ขณะที่งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการขนาดใหญ่ คาบเกี่ยวและมีผลกระทบกับหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนและหน่วยงานราชการ ดังนั้น การทำงานของทีมก่อสร้างจึงไม่เป็นไปอย่างราบรื่นมากนัก เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรคภายนอกอย่างปัญหามวลชน การประสานและทำงานร่วมกับฝ่ายจีน การระบาดของโควิด และอุปสรรคภายในอย่างระบบโครงสร้างราชการไทยซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งจากระเบียบการทำงาน และข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ความท้าทายเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างฯ ในระยะที่ 1 เท่านั้น ขณะที่การก่อสร้างในระยะที่ 2 ยังคงอยู่ระหว่างการทำ EIA และคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างระยะต่อไปได้ “ไม่นานเกินรอ” ...

โมเดลสถานีรถไฟความเร็วสูงในสำนักงานย่อย SRT (State Railway of Thailand) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา


* ขอขอบพระคุณการรถไฟแห่งประเทศไทย วิศวกรจากฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ขอขอบพระคุณตัวแทน CSC และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน รวมทั้งนายสถานีโคราช นายสถานีปากช่อง สารวัตรแขวงบำรุงทางนครราชสีมา ที่กรุณาต้อนรับและให้ข้อมูลอย่างรอบด้านมา ณ ที่นี้

** ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566  ​

 

*** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย

IMG_6305.heic
IMG_6106.heic
IMG_6303.heic
IMG_6309.heic
bottom of page