อนาคตการศึกษากับรถไฟความเร็วสูง
กรณีสถาบันรถไฟความเร็วสูงหลู่ปัน วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกชุมชนที่จะมีการวิ่งผ่านของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จากการเล็งเห็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านวิสัยทัศน์อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ อย่างว่าที่ ร.ต.จรรยา พาบุ ผู้ซึ่งนำพาเอาหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาระบบรางขนส่ง ระบบรถไฟความเร็วสูง เข้ามาในวิทยาลัย โดยมุ่งที่จะสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการขนส่งระบบรางรองรับรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โครงการวิจัยรถไฟจีนข้ามพรมแดน:การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลและเพื่อพูดคุยกับครูวิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของหลักสูตร ว่าที่ ร.ต.จรรยา อดีตผอ.วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ มองว่าในอนาคตการขนส่งระบบรางจะเป็นระบบที่มีศักยภาพ จึงติดต่อกับสถาบันขงจื้อ เพื่อหาช่องทางพูดคุยและสร้างความร่วมมือกับสถานศึกษารถไฟความเร็วสูงในประเทศจีน จนสามารถสร้างความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น กอปรกับประเทศจีนนั้นมียุทธศาสตร์ one belt one road ซึ่งมีโครงการที่สนับสนุนทางด้านการศึกษาคือ 100+100 หรือโครงการร้อยสถานศึกษาของจีนต้องจับคู่กับสถานศึกษาในเอเชีย เพื่อขยายหลักสูตรการเรียนการสอนและสร้างความร่วมมือ จนกลายเป็นหลักสูตรทวิวุฒิหรือรับการศึกษาทั้งในไทยและจีนพร้อมรับวุฒิการศึกษาของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้การสนับสนุนในรูปแบบดังกล่าวจะอยู่ในกลุ่มวิทยาลัยนำร่องอาชีวะพรีเมียม นอกไปจากนี้ยังได้ร่วมมือกับองค์กรและผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้และความเกี่ยวข้องกับรถไฟประเภท EMU (Electric Multiple Unit: EMU รถไฟที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองโดยใช้พลังงานไฟฟ้า) ทั้งในไทยและจีน เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภายใต้หลักสูตรการศึกษาดังกล่าวนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาในหลายๆด้าน ได้แก่
1.การขาดแคลนทั้งงบประมาณและครุภัณฑ์ในการเรียนการสอน เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้งบประมาณที่ได้รับอนุมัติไม่เพียงพอ ทางวิทยาลัยและครูจึงประยุกต์วัสดุอุปกรณ์เท่าที่มี เพื่อจำลองรางรถไฟ ตู้รถไฟ หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟให้นักเรียนนักศึกษาได้เห็นภาพขณะเรียนมากยิ่งขึ้น
2. ขาดบุคลากรที่มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงโดยตรงมาสอน ทั้งนี้วิทยาลัยต้องให้บุคลากรซึ่งคือครูในสาขาอื่น ๆ มาเรียนรู้เพิ่มเติม เข้ารับการอบรมทั้งในไทยและจีน พร้อมกับใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อจะรวบรวมความรู้ความสามารถทั้งหมดมาสอนนักศึกษา นอกไปจากนี้ยังใช้วิทยากรจากภายนอกทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน เข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้ทั้งครูและนักศึกษาในสถาบันอีกด้วย
3. ขาดแคลนนักเรียนนักศึกษา เนื่องจากเป็นหลักสูตรใหม่ ทำให้มีนักเรียนที่ให้ความสนใจในหลักสูตรดังกล่าวไม่มากนัก และแม้ว่าระบบขนส่งทางรางจะเป็นอนาคตใหม่ที่ทันสมัยและกำลังเกิดขึ้นภายในประเทศไทย แต่ยังไม่มีภาพชัดเจน ของการทำงานที่เกี่ยวข้อง จึงอาจจะเป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุทำให้นักเรียนสนใจไม่มากนักและผู้ปกครองในท้องถิ่นไม่ได้สนับสนุนให้นักศึกษามาเรียน หากเทียบกับสาขาอื่น ๆ เช่น ช่างกล หรือไฟฟ้า ที่เห็นได้ชัดเจนว่าจบมาแล้วทำงานได้เลย
“...ระบบขนส่งทางรางเป็นหลักสูตรใหม่ ตลาดมีความต้องการก็จริง แต่ผู้ปกครองเขาก็ยังอยากให้เรียนช่างไฟ เครื่องยนต์ไฟฟ้า อิเล็กซ์ฯหรือคอมอยู่เหมือนเดิม เพราะเรียนจบออกไปเขาก็เข้าทำงานเลย เขายังไม่เห็นความก้าวหน้ากับการเรียนในหลักสูตรนี้ บางทีเด็กอยากเรียนแต่ผู้ปกครองอยากให้เรียนอย่างอื่น ก็มี หรือบางทีผู้ปกครองอยากให้เด็กเรียนในหลักสูตรนี้ แต่เด็กไม่อยากเรียน แบบนี้ก็มี …ทำให้เด็กของเราในหลักสูตรนี้ไม่เต็ม ซึ่งในตอนนี้ถ้าใครสนใจมาเรียน เราก็รับหมด ทั้งสายตรงและสายม.หก…” (ครูแผนกเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยบ้านไผ่กล่าว)
ทีมวิจัยได้พูดคุยกับน้องบีม (นามสมมติ) นักศึกษาปีหนึ่ง ในสาขางานเทคนิคเครื่องกลระบบขนส่งทางรางวิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ น้องบีม เป็นคนหาดใหญ่ จบการศึกษาในระดับปวช. สาขาไฟฟ้า จากวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง เนื่องจากต้องการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระบบราง ซึ่งเป็นความหลงใหลที่มีมาตั้งแต่เด็ก พร้อมกับการที่ครอบครัวให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว โดยคุณพ่อทราบว่ามีสาขานี้อยู่ในบ้านไผ่ จึงตัดสินใจสมัครและเข้ามาเรียน โดยมีความสนใจอยู่ในสองประเด็นคือหนึ่ง หลักสูตรการศึกษาที่สนับสนุน ให้สามารถไปเรียนในประเทศจีนได้ สองคือการหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับขนส่งระบบรางโดยตรงเนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เรียนในสาขาไฟฟ้ามาจึงต้องการความรู้พื้นฐานในเรื่องของระบบรางและรถไฟความเร็วสูง น้องบีมยังเล่าว่าในการเรียนนอกจากจะต้องเรียนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางทั้งในไทยและจีน(ทางออนไลน์) ยังมีการอบรมพื้นฐานภาษาจีนที่โรงเรียนจัดเตรียมไว้ และวิทยาลัยฯ ยังพาไปดูงานที่สถานีรถไฟบางซื่อสายสีแดง ที่นั่นทำให้น้องบีมได้เห็นบรรยากาศการทำงานจริง การจัดการการเดินรถ ขบวนรถต่าง ๆ การดูแลทั้งเส้นทาง ซึ่งทำให้น้องบีมมีความใฝ่ฝันว่า ในอนาคตเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว จะสามารถไปทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงได้ ในตอนนี้น้องบีมกำลังลาออก เพื่อไปศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“…เคยไปดูผู้ควบคุมการเดินรถ เป็นห้องทำงาน ที่มีคนดูแลตรงนั้น จัดการการเดินรถ ขบวนนี้ต้องไปทางนี้ อันนี้เห็นจากตอนไปดูงานที่สถานีบางซื่อ มันเป็นสถานีสายสีแดงครับพี่ เราจะเห็นการเดินรถตั้งแต่รังสิต น่าจะไปถึงนครปฐม เราจะเห็นทุกอย่างที่อยู่ในห้องนั้น สำหรับผมแล้ว ในหัวผมคือทำงานอะไรก็ได้ที่มันเกี่ยวกับเรื่องนี้… ผมคิดว่า งานตรงนี้มันจะมั่นคงในระดับหนึ่งในประเทศไทย เพราะว่าในประเทศไทยพัฒนาได้ ระบบรางมันจะไปไกลได้อีกเยอะ ต่อไปก็น่าจะเป็นระบบที่สะดวกที่สุดแล้ว”
(น้องบีม (นามสมมติ) นักศึกษาวิทยาลัยบ้านไผ่ กล่าว)
ภาพฝันรถไฟความเร็วสูงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตการเดินทางภายในประเทศไทยได้กระตุ้นให้สถาบันวิทยาลัยการอาชีพหลายแห่ง พยายามสร้างบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น แต่ดูเหมือนว่าสถาบันฯ บางแห่งจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคภายในทั้งเรื่องของงบประมาณและบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมในการศึกษานี้ จำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงความรู้อย่างถูกต้องได้ ขณะเดียวกันอุปสรรคภายนอกอย่างจำนวนของนักศึกษาที่มีอยู่ไม่มากนัก ถือเป็นความท้าทายที่หลักสูตรระบบรางของวิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่กำลังเผชิญ
ทีมวิจัยตั้งข้อข้อสันนิษฐานว่า สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่ประชาชนทั่วไปยังไม่เห็นภาพการใช้รถไฟความเร็วสูงในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจมีส่วนทำให้มีนักเรียนนักศึกษาที่สนใจมาเรียนด้านดังกล่าวไม่มากนัก รวมทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยมีข้อสังเกตว่า แม้รถไฟความเร็วสูงจะยังเป็นเพียงโครงการในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว โดยหลักสูตรระบบรางที่เกิดขึ้นที่วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ ถือเป็นตัวอย่างผลผลิตจากการคาดการณ์ว่ารถไฟความเร็วสูงจะก่อให้เกิดรูปแบบงานใหม่ใหม่ในประเทศไทยได้ แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าเราจะได้เห็นโครงการดังกล่าวสำเร็จเป็นรูปธรรมเมื่อใด แต่ความคาดหวังต่อรถไฟความเร็วสูงในแง่ของการสร้างอาชีพที่มั่นคงในอนาคต ได้ชักนำให้บุคลากรครูในวิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ และนักศึกษาอย่างบีม ตัดสินใจและลงมือเปลี่ยนแปลงทางเลือกในชีวิตของพวกเขาให้สอดคล้องกับภาพฝันเหล่านั้น ท่ามกลางความเสี่ยงและข้อจำกัดมากมาย ...
เรื่องราวของผู้คนระหว่างทางเหล่านี้ ช่วยสะท้อนให้เห็นว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบในมิติเชิงกายภาพที่จับต้องได้เท่านั้น ความคาดหวังและจินตนาการต่อรถไฟฯ ได้ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของหลายชีวิตในปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าโครงการฯ จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
* ขอขอบพระคุณคณะครูและนักศึกษา วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ ที่กรุณาต้อนรับและให้ข้อมูลอย่างรอบด้านพร้อมกับการพาเยี่ยมชมพื้นที่การเรียนการสอนของวิทยาลัยมา ณ ที่นี้
** ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566
*** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย