top of page

ผู้ประกอบการไทยในคุนหมิง โอกาสของคนไทยผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน

หลังจากรถไฟลาว-จีนเปิดบริการมากว่า 2 ปี (ตั้งแต่ธันวาคม 2564) โดยในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 285 หรือประมาณ 2.4 ล้านคน ขณะที่การขนส่งสินค้านั้นมีการเพิ่มจำนวนรอบการขนส่งจากในตอนแรกที่มีเพียง 2 รอบ เป็น 14 รอบ การเพิ่มจำนวนรอบรถไฟในการขนส่งสินค้า มีนัยสำคัญต่อการค้าระหว่างลาวและจีน โดยทำให้มูลค่าการค้าระหว่างลาว-จีน สูงถึง 4.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2566[1] การขนส่งระหว่างชายแดนดังกล่าวนับว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่จะย่นระยะเวลาการส่งสินค้าไปประเทศจีนซึ่งจากเดิมที่อาจใช้การขนส่งผ่านเส้นทางบกอย่างรถผ่าน R3A จากจังหวัดเชียงรายที่อาจใช้เวลา 2-3 วัน จะถึงประเทศจีน หรืออาจใช้การขนส่งทางเรือที่ใช้ระยะเวลา15-20 วัน ขณะที่รถไฟลาว-จีนใช้เวลาเพียง 15 ชั่วโมงเท่านั้น

 

[1] สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว. 2566. ทางรถไฟลาว-จีน ขุมพลังแก่การพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม ของภูมิภาค. เข้าถึงเมื่อ 23 มกราคม 2567 จาก https://www.ditp.go.th/post/157009

IMG_6793.jpg

โอกาสนี้เป็นของใคร ?

วันที่ 11 มกราคม 2567 ทีมวิจัยโครงการรถไฟจีนข้ามพรมแดนฯ ได้มีโอกาสเดินทางสำรวจตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน และพบปะพูดคุยทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการค้าไทยในคุนหมิงรวมถึงผู้ประกอบการชาวไทยในคุนหมิง  ผู้ประกอบการขายปลีกและขายส่งสินค้าไทยบริษัท Yunnankan-Thai Guangda Trading ตั้งร้านค้าปลีกที่ห้าง YUNFANG ที่มีป้ายด้านหน้าว่าศูนย์กระจายสินค้าไทยนครคุนหมิง ภายในห้องเต็มไปด้วยร้านของชำซึ่งเป็นสินค้าไทย และสินค้าประเภทของตกแต่งด้วยไม้ รวมถึงเครื่องจักสาร ด้านนอกมีร้านอาหารเรียงรายซึ่งเต็มไปด้วยชื่อภาษาไทยแปลกๆ หรือเว้นวรรคแบบขาดตัวสะกด เช่น ร้าน ‘คนอ้วน’ ร้าน ‘มะนาวที่ชื่นชอบ’ ร้าน 'เอเชี-ยตะวันออกเฉียงใต' เป็นต้น ภายในห้างจะมีเพียงแค่ชั้นหนึ่งเท่านั้นที่จะเป็นสินค้ามาจากไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีเจ้าของเป็นคนจีน ขณะที่ร้านของชำมีเจ้าของเป็นคนไทยเพียง 3 ร้านเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ Yunnan kan-Thai Guangda Trading ซึ่งเปิดหน้าร้านในนามร้าน ‘กินรี’ ให้บริการมาแล้วกว่า 17 ปี ผ่านความยากลำบากจากอุปสรรคมาทุกรูปแบบ ตั้งแต่ความพยายามในการนำเข้าสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมายจีน การจัดการระบบขนส่ง ปัญหาจากระบบการนำเข้าสินค้าที่ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาทำให้การนำเข้าแต่ละครั้งมีความยากลำบากและอาจมีค่าใช้จ่ายบางประการเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คุณชล หนึ่งในผู้บุกเบิกบริษัทให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ปี 2565 จีนมีระบบ GACC หรือ General Administration of Customs of the People's Republic China เป็นการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตสินค้าอาหารส่งออกไปจีน ช่วยให้การนำเข้าส่งออกง่ายขึ้น เพราะเป็นการตรวจสอบด้วยระบบ AI นับว่าการพัฒนาระบบดังกล่าว ทำให้การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมายังจีนมีระบบที่สะดวกและรวดเร็ว เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดโดยไม่ต้องดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ในส่วนของการขนส่งปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางท่าเรือกวางเจา เนื่องจากราคาถูก และสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทของแห้ง ไม่เสี่ยงต่อการเน่าเสียหรือหมดอายุง่าย แต่คุณชลให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการขนส่งผ่านรถไฟลาว-จีน ด้วยสาเหตุที่ว่า ผู้เล่นในเส้นทางนี้ยังน้อย ทำให้ค่าขนส่งราคาสูง ยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้ามากยิ่งขึ้น คุณชลในความเห็นว่า หากราคาค่าขนส่งถูกลง การส่งสินค้าผ่านรถไฟลาว-จีนก็อาจเป็นอีกทางเลือกที่บริษัทเลือกใช้ในอนาคต

ทีมวิจัยได้พูดคุยเพิ่มเติมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ด้วยประเด็นที่ว่า โอกาสของผู้ประกอบการผ่านรถไฟลาว-เป็นอย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่า สินค้าที่มีการส่งออกจากไทยผ่านรถไฟฯ เป็นผลไม้สดอย่าง ทุเรียนและมังคุด แต่ปัจจุบันมีเพียงบริษัทไทยเจ้าเดียวที่ส่งออกสินค้าผ่านรถไฟลาว-จีนมายังคุนหมิง ขณะที่การขนส่งไปมาระหว่างเส้นทางรถไฟฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้กระกอบการชาวจีนที่ส่งออกจากจีนสู่ประเทศไทย ซึ่งอาจเนื่องด้วยข้อจำกัดในหลายประการที่ทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยไม่สามารถเข้าสู่ตลาดการแข่งขันของการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟลาว-จีนได้มากนัก ประการแรก การเข้าไม่ถึงตลาดของจีนซึ่งเป็นปัจจัยหลักของนักลงทุนหรือผู้ประกอบการ ประการที่สอง ข้อจำกัดจากมาตรฐานจีน ซึ่งมีอยู่หลายประการ เช่น สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานจีนหรือยังไม่มีการรับรองให้ผ่านมาตรฐานจีนและอาจรวมถึงยังไม่มีการเจรจาทางการระหว่างประเทศเพื่อให้การส่งเสริมการส่งออกสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบบางประเภท เช่น ใบกะเพรา ใบมะกรูด เป็นต้น อีกประการสำคัญคือ การขนส่งสินค้าผ่านรถไฟลาวจีนตู้คอนเทนเนอร์แบบเสียบปลั๊กไฟ โดยอาศัยไฟจากตู้กำเนิดไฟหลัก (Main Generator) ต้องผ่านการรองรับจาก China Classification Society (CSS) และประเทศปลายทาง จึงจะสามารถใช้งานผ่านรถไฟลาว-จีนได้ ประการที่สาม ค่าขนส่งผ่านเส้นทางนี้ค่อนข้างสูง และจำเป็นต้องขนส่งสินค้าผ่าน Vientiane Logistics Park : VLP ในพื้นที่ท่านาแล้งที่นครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นรอยต่อในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศไทยและลาว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ขนส่งต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา ฉะนั้นแล้วโอกาสของผู้ประกอบการชาวไทยจะเพิ่มขึ้นมาได้นั้นยังคงเป็นเรื่องของการเจราจาระหว่างรัฐบาลจีน-ลาว-ไทย เพื่อสร้างความร่วมมือทั้งการลดภาระค่าใช้จ่ายบางประการ หรือกระทั่งความร่วมมือด้านการตลาดและสินค้าเพื่อส่งเสริมให้เกิดการส่งออกมากยิ่งขึ้น

IMG_6794.jpg

หลังจากที่มีการเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน และปลดล็อคประเทศลาวจากดินแดนที่ไร้ทางออกทะเลสู่การเป็นประเทศเชื่อมต่อสำเร็จด้วยเทคโนโลยีรถไฟจีน ความท้าทายในการสร้างเส้นทางรถไฟของจีนภายในประเทศลาวสะท้อนศักยภาพและความสามารถด้านวิทยาการรถไฟให้โลกได้ประจักษ์ และมีผู้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวได้อีกมากมาย ตลอดการเดินทางของโครงการวิจัยฯ เราได้เห็นประชาชนชาวลาว จีน ไทย มากมายเข้ามาใช้บริการรถไฟเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวนานาชาติที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในลาวและจีน

 

จะเห็นได้ว่า ในช่วงระหว่างที่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนกำลังค่อยๆ ดำเนินการก่อสร้าง รถไฟลาว-จีน ที่เริ่มใช้งานแล้วนั้น ถือเป็นอีกโครงการรูปธรรมสำคัญ ที่ส่งผลให้ประเทศลาวกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจทั้งเชิงบวกและลบ รวมทั้งการก่อสร้างโครงการรถไฟผ่านความร่วมมือกับจีนในอีกหลายๆ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้นเฉกเช่นเดียวกัน

พื้นหลังสีขาว

* ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566 

** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย

119212230_10223328381540806_2794295216998421709_n.jpg

ผานิตดา ไสยรส

หัวหน้าโครงการ

9316.jpg

ปลายฟ้า นามไพร

ผู้ช่วยวิจัย

311048144_824226945430716_9073000480974242341_n.png

Kesone Kanhalikham

ผู้ช่วยวิจัย

bottom of page