top of page
IMG_9118.HEIC

ไฉไลในประเทศลาว (1) ตอนนครหลวงเวียงจันทน์

นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว เมืองที่นักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนต่างหลงใหลในวัฒนธรรม อาหาร และการใช้ชีวิต รวมไปถึงทัศนียภาพของธรรมชาติที่ยังคงโอบล้อมเมืองไว้อย่างลงตัว เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565 ประเทศลาวได้เปิดใช้บริการรถไฟ ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยรัฐวิสาหกิจจีน และเป็นอีกครั้งที่การท่องเที่ยวในลาวเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากที่พรมแดนนานาประเทศปิดไปเพราะการระบาดของโควิด การเปิดประเทศอีกครั้งพร้อมกับการเปิดตัวรถไฟทันสมัยได้เปลี่ยนภาพและจินตนาการที่เกิดในประเทศลาวได้เลยทีเดียว

"Land Lock"
to
"Land Link"

IMG_5921.HEIC
IMG_5921.HEIC

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทีมโครงการวิจัยได้มีโอกาสไปสำรวจพื้นที่ในประเทศลาว และใช้บริการรถไฟลาว - จีน ตัวสถานีรถไฟอยู่ห่างจากตัวเมืองค่อนข้างมาก รถรับส่งมีทั้งรถตู้ รถเมล์โดยสาร การเรียกรับผ่านแอพมือถือ รถรับจ้างต่าง ๆ โดยตัวสถานีชื่อ “สถานีนครหลวงเวียงจันทร์” เป็นสถานีใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาที่สถานีก็มีความยุ่งยากอยู่บ้าง เราเห็นข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตว่า มีรถสองแถววิ่งในตัวเมืองและจะผ่านมายังสถานีด้วย แต่ดูเหมือนจะใช้เวลานาน เมื่อเราจะเดินทางมายังสถานีจึงทำการเรียกผ่านแอพพลิเคชั่น Loca แต่ปรากฏว่า สถานีรถไฟที่เราปักหมุดมาลงกลับเป็นอีกแห่งซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่จะข้ามมายังไทยหรือเรียกว่า ท่านาแล้ง เมื่อเสริชผ่านแอพก็มีหมุดของสถานที่นี่ให้เราปักหมุด คนขับรถได้ทักท้วงเราว่าเราอาจจะปักหมุดผิดแห่ง แต่เมื่อเราเสริชหาอย่างไรก็ไม่เจอว่าสถานีรถไฟเวียงจันทร์อยู่ที่ไหน ในที่สุดแล้วคนขับรถก็ค้นหาแผนที่เป็นภาษาลาวในมือถือของตนเองว่า ສະຖານີນະຄອນຫຼວງວຽງຈັນ จึงทำให้เราไปถึงจุดหมายได้

ระหว่างที่ทำการสำรวจเมืองเวียงจันทน์ ทีมวิจัยได้เดินทางไปที่สถานีรถไฟคำสะหวาด ณ บ้านคำสะหวาด เมืองไซเสดถา นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นส่วนต่อขยายของทางรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง ภายนอกสถานีนั้นค่อนข้างแตกต่างไปจากสถานีรถไฟอื่น ๆ ในลาว อาจเนื่องมาจากสถานีนี้เป็นความร่วมมือระหว่างลาวและไทยทำให้การออกแบบแตกต่างออกไป ตัวของสถานียังไม่ถูกเปิดใช้งาน แต่มีเคาท์เตอร์ขายตั๋วรถไฟ (ซึ่งตัวสถานีไม่เชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟลาว-จีน)  โดยการเปิดขายตั๋วนี้ไม่สามารถชำระเป็นเงินสดหรือบัตรเครดิตได้ต้องเป็นการสแกนจ่ายหรือโอนเงินของระบบลาวเท่านั้น ซึ่งระบบจัดการดังกล่าวสร้างความมึนงงแก่พวกเราอยู่พอสมควร ประการแรกสถานีไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน แต่มีจุดขายตั๋วสำหรับรถไฟ ประการที่สอง หากต้องการเดินทางไปขึ้นรถไฟลาว-จีน ผู้โดยสารต้องหารถนั่งต่อไปยังสถานีเอง อย่างไรก็ตามระบบการเชื่อมต่อของรถไฟลาว-จีนระหว่างบ่อเต็น (ชายแดนลาว-จีน) ไปยังสถานีโมฮาน (ประเทศจีน) นั้นมีลักษณะเช่นเดียวกัน คือไม่มีรถไฟวิ่งข้ามแดนได้ทันที ต้องนั่งรถต่อเพื่อข้ามชายแดนลาวไปขึ้นที่สถานีในประเทศจีน ทั้งนี้การเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงระหว่างสามประเทศทั้งไทย ลาว และจีน ดูจะมีจุดร่วมอันโดดเด่นที่เหมือนกันคือ "ช่องว่างระหว่างการเชื่อมต่อ"

นอกไปจากการเกิดขึ้นของสถานีรถไฟลาว-จีน แห่งใหม่แล้ว ประเทศลาวยังมีการเติบโตในด้านการพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างมาก ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟคำสะหวาด มีเขตพัฒนาไซเสดถา (ເຂດພັດທະນາໄຊເສດຖາ) เป็นโครงการบริษัทการลงทุนของมณฑลยูนนาน ธนาคารการพัฒนาแห่งชาติจีนร่วมกับลาว ตั้งแต่ปี 2010 โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม นอกไปจากนี้เรายังได้สำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง  (ເຂດເສດຖະກິດພິເສດບຶງທາດຫລວງ) ซึ่งอยู่เกือบใจกลางเมืองเวียงจันทร์ โดยมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์หว่างเฟิ้ง เซี่ยงไฮ้ของจีนเป็นผู้พัฒนา โดยมุ่งเน้นการทำให้พื้นที่เป็นที่พักอาศัยและพื้นที่พักผ่อนที่ทันสมัย มีการขุดบึงน้ำขึ้นมาใหม่ สร้างระบบสาธารณูปโภค ทำถนนใหม่ สร้างโรงแรมและที่พัก ปัจจุบันการพัฒนานี้ทำไปได้เพียง 10 เปอร์เซ็นเท่านั้น บริษัทผู้พัฒนายังได้เปิดพื้นที่ให้นักลงทุนอื่น ๆ สามารถเข้ามาร่วมทุนได้ และในอนาคตอันใกล้นี้ยังได้เริ่มลงทุนร่วมกับนักลงทุนชาวเกาหลีเพื่อพัฒนาสนามกอล์ฟ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อพื้นที่ดังกล่าวให้มากขึ้น ทีมโครงการวิจัยได้เข้าพัก และลองใช้ชีวิตอยู่ในเขตบึงทาดหลวงเป็นระยะเวลาสั้นๆ  พวกเราพบว่า บรรยากาศ และสภาพแวดล้อมทั่วไปที่สังเกตได้ชัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวงนั้นมีความแตกต่างออกไปจากพื้นที่อื่น ๆ ในนครหลวงเวียงจันทร์เป็นอย่างมาก ด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม ทางเดินเท้าที่กว้างขวาง บริเวณรอบบึงน้ำได้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของเมืองไปโดยปริยาย มีผู้คนมากมายมาใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายในช่วงเช้าและเย็น  ถนนหนทางที่กว้างขวาง ป้ายบอกเส้นทางจราจรสีน้ำเงินขนาดใหญ่ ตึกและอาคารสูงที่เปิดไฟตลอดทั้งคืน ร้านอาหารขนาดใหญ่ ผับบาร์ และร้านกินดื่มประดับไฟสีสันสว่างไสว แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับค่าครองชีพราคาสูงในพื้นที่ พวกเราสังเกตว่า แม้วันธรรมดาอาจจะดูเงียบเหงา แต่ก็มีความคึกคักมากขึ้นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยในช่วงค่ำคืนเรายังพบผู้คนมาถ่ายรูปกับถนนและตึกสูง พวกเขาเลือกใช้วิวเมืองใหม่ที่มีไฟสว่างไสวเป็นฉากหลังเสมือนมาถ่ายรูปกับสถานที่ท่องเที่ยว “ศิวิไลซ์” แห่งใหม่ของเมืองเสียด้วยซ้ำ 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวียงจันทน์เป็นสิ่งที่สะท้อนการเติบโตผ่านการร่วมลงทุนระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาพร้อมกับการพัฒนาในเชิงโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจนและแน่นอนว่าก็สร้างความกังวลใจกับทั้งคนภายนอกและภายในที่กลัวการถูกกลืนกลาย ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ช่องว่างระหว่างรายได้ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 

อย่างไรก็ดีจินตนาการและความมุ่งหวังถึงความเจริญของบ้านเมือง และอนาคตที่ดีขึ้นของผู้คนยังคงสามารถสัมผัสได้ผ่านคำบอกเล่าและบทสนทนาเมื่อเอ่ยถึงรถไฟลาว-จีน พวกเราพบว่ามีผู้คนหลากหลายกลุ่มที่มองหาความเป็นไปได้ และพร้อมเข้าไปตักตวงถึงโอกาสมากมายจากการ“พัฒนา”เหล่านี้ ซึ่งจะกล่าวในครั้งถัดไป

พื้นหลังสีขาว

* ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566 

** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย

119212230_10223328381540806_2794295216998421709_n.jpg

ผานิตดา ไสยรส

หัวหน้าโครงการ

9316.jpg

ปลายฟ้า นามไพร

ผู้ช่วยวิจัย

311048144_824226945430716_9073000480974242341_n.png

Kesone Kanhalikham

ผู้ช่วยวิจัย

bottom of page