top of page
แองเคอ 1

รถไฟไทย-จีนถึงหนองคาย กี่โมง!?

"รถไฟจะไปโคราช...อีกกี่ชาติจะถึงหนองคาย"  เป็นประโยคเรียบง่ายที่คณะผู้วิจัยอยากจะใช้เพื่อสะท้อนเสียงของผู้คนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ที่มีนัยถึงความล่าช้าของโครงการและการเฝ้ามองดูอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของเมืองชายแดนแม่น้ำโขงแห่งนี้ 

 ตามเป้าหมายของของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คือเส้นทางการเชื่อมต่อสามประเทศจากคุนหมิงจนถึงกรุงเทพ ทั้งนี้งานก่อสร้างรถไฟในประเทศลาวสำเร็จได้อย่างลุล่วงและเปิดการใช้งานตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2564 ขณะที่งานก่อสร้างในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือโครงการก่อสร้างในระยะที่ 1 ตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา (โคราช) ส่วนระยะที่ 2 คือ ช่องต่อจากนครราชสีมาจนถึงหนองคาย ปัจจุบันงานก่อสร้างในระยะที่ 1 ยังคงดำเนินงานก่อสร้างอยู่ ขณะที่งานก่อสร้างในระยะที่ 2 ยังไม่เริ่ม 

ทีมวิจัยโครงการวิจัยรถไฟจีนข้ามพรมแดนฯ ได้มีโอกาสเดินทางสำรวจจังหวัดหนองคาย ลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้านหนองกอมเกาะให้ข้อมูลแก่ทีมวิจัยว่า ที่จริงแล้วโครงการก่อสร้างรถไฟยังไม่มีการเวนคืน ไม่มีหนังสือหรือคำสั่งอะไรลงมาการเวนคืนที่เกิดขึ้นในชุมชนคือโครงการก่อสร้างถนนซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่สถานีนาทา โครงการพัฒนาสถานีรถไฟนาทา มีขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็น Container Yard, Transshipment Yard และ Depot  เพื่อรองรับเปลี่ยนถ่ายสินค้านำเข้า - ส่งออกจากรถไฟความเร็วสูงจีน - ลาว - ไทย รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย โดยสถานีนาทาในปัจจุบันเป็นเพียงเรือนไม้หลังเล็ก ๆ ซึ่งเป็นจุดสำหรับขนถ่ายสินค้า และในอนาคตพื้นที่ส่วนของสถานีนาทานี้เองจะถูกปรับให้เป็นอนาคตศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางรางอาเซียน  สำหรับพื้นที่เวนคืนเริ่มมีการรับทราบบ้างแล้วว่าบ้านหลังไหนหรือที่ดินใดต้องมีการเวนคืน ซึ่งในเบื้องต้นจำนวนของผู้ถูกเวนคืนยังมีไม่มากนัก และที่ดินส่วนใหญ่ในพื้นที่ถูกเปลี่ยนมือไปยังนายทุนเมื่อนานมาแล้ว และผู้ใหญ่บ้านยังให้ความเห็นว่า ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะมีเวนคืน ขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่ทราบกันดีว่าโครงนี้กินพื้นที่กว้างมากเพียงใด แม้จะไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าโครงการจะเริ่มต้นก่อสร้างเมื่อใดแต่ชาวบ้านที่ยังพอมีทุนอยู่บ้างก็มีการซื้อที่ดินที่คาดการณ์ว่าจะถูกเวนคืนไว้ตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นการลงทุนว่าเมื่อยามการเวนคืนมาถึงพื้นที่ดังกล่าวอาจจะสร้างผลกำไรได้จากการลงทุนครั้งนี้ได้

การก่อสร้างถนนนี้เป็นการปูทางเพื่อวิ่งเข้าสู่สถานีรถไฟนาทารูปแบบใหม่ในอนาคต สถานีนาทานี้ถูกแบ่งออกเป็นทั้งพื้นที่รองรับสินค้า ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งการรองรับการนำเข้า-ส่งออก เปลี่ยนถ่ายสินค้า จุดตรวจสินค้า รวมถึงรองรับการทำพิธีการต่าง ๆ และอีกส่วนคือเป็นพื้นที่ซ่อมบำรุง ถนนที่กำลังเริ่มก่อสรา้งคือเส้นทางที่จะตัดมาจากทางหลวงหมายเลข 2 เข้ามายังสถานีนาทาระยะทางของถนนในการก่อสร้างประมาณ 1.010 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนประมาณ 28 ไร่ (22 แปลง) มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูก เวนคืนประมาณ 15 รายการ งบประมาณในการดาเนินโครงการประมาณ 91 ล้านบาท

IMG_5669.HEIC

นอกเหนือไปจากโครงการพัฒนาสถานีนาทาแล้ว ยังมีโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพหนองคาย-เวียงจันทน์แห่งใหม่ โดยมีการก่อสร้างห่างจากสะพานเดิม 30 เมตร มีการวางแบบไว้ทั้งสิ้น 2 รูปแบบในเบื้องต้น 

Option 1 ก่อสร้างสะพานรถไฟและสะพานรถยนต์ใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานเดิม โดยก่อสร้างเป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง (Meter Gauge (SRT) 2 Tracks + Standard Gauge (HSR) 2 Tracks) และสะพานรถยนต์ ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานเดิมให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว

ที่มาภาพ MGR Online. 2565. กรมทางหลวงควัก 40 ล้านบาทเซ็นจ้างศึกษารูปแบบสะพานรถไฟข้ามโขงแห่งใหม่เชื่อม "หนองคาย-เวียงจันทน์".เข้าถึงจาก 

https://mgronline.com/business/detail/9650000104197

Option 2 ก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน โดยก่อสร้างเป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง (Meter Gauge (SRT) 2 Tracks + Standard Gauge (HSR) 2 Tracks) พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานุปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว ก่อสร้างสะพานรถยนต์ใหม่ด้านเหนือน้ำของสะพานปัจจุบันอีก 2 ช่องทางจราจร รวมกับจำกัดช่องจราจรของสะพานเดิม 2+2 = 4 ช่องจราจร 

ที่มาภาพ MGR Online. 2565. กรมทางหลวงควัก 40 ล้านบาทเซ็นจ้างศึกษารูปแบบสะพานรถไฟข้ามโขงแห่งใหม่เชื่อม "หนองคาย-เวียงจันทน์".เข้าถึงจาก 

https://mgronline.com/business/detail/9650000104197

ทางโครงการก่อสรา้งสะพานได้เริ่มเรียกประชุมเพื่อพูดคุยกับประชาชนบ้านจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย ในกรณีของการเวียนคืนไปทั้งสิ้น 3 ครั้ง โครงการวิจัยได้พูดคุยกับเจ้าอาวาสวัดจอมมณีซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะมีต้องได้รับการเวนคืน ทางเจ้าอาวาสได้อธิบายว่า เมื่อประมาณปี 2564 ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาขอให้หยุดการก่อสร้างศาลาวัดใหม่ ซึ่งทางวัดได้ขึ้นเสาของอาคารไปแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะมีการสร้างสะพานมิตรภาพอันใหม่เกิดขึ้นซึ่งกินพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัด เมื่อเดินเข้าไปด้านหลังวัด เราพบกับบ้านของชาวบ้านในพื้นที่อีก 5 หลังคาเรือน แม่อึ่งหนึ่งในผู้อาศัยเล่ามา ตนเองอาศัยอยู่ที่นี่มานาน ก่อนหน้านี้ชุมชนในแถบนี้มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งของผู้อยู่อาศัยที่หายไปเนื่องจากได้รับการเวนคืนเมื่อครั้งมีการสร้างสะพานมิตรภาพครั้งแรก เมื่อประมาณปีที่แล้วมีเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยกับตนเองว่า จำเป็นต้องย้ายออกเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เวนคืน แม่อึ่งให้ความเห็นว่า ตนเองอาศัยอยู่ที่นี่มาเกือบตลอดชีวิต หากบ้านหลังนี้โดนเวียนคืนเพียงแค่บางส่วนก็มีความตั้งใจว่าจะอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ต่อแม้จะเหลือพื้นที่เพียงน้อยนิด แต่หากโดนทั้งพื้นที่ก็มีเพียงความต้องการให้มีการประเมินราคาอย่างสมเหตุสมผล เนื่องจากราคาที่ดินและบ้านในหนองคายราคาค่อนข้างสูง การไปหาที่อยู่อาศัยใหม่อาจจะไม่ง่าย ซึ่งแม่อึ่งเองเป็นผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดทางร่างกายในการเดินและเคลื่อนไหว ซึ่งแม่อึ่งอาศัยอยู่บ้านกับหลานซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ทำให้มีความความกังวลในหลายอย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่ทางโครงการยังไม่มีรายละเอียดของการประเมินราคามายังประชาชนในพื้นที่ ก็ได้สร้างความกังวลใจแก่ประชาชน รวมถึงท่านเจ้าอาวาสวัดจอมมณีมีความกังวลเช่นกันว่าพื้นที่ที่จะเวนคืนนั้นอาจจะสร้างผลกระทบในวงกว้างที่กินพื้นที่ของวัดในจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

จากการสำรวจพื้นที่จังหวัดหนองคาย ทีมวิจัยพบว่า มีความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเกิดขึ้นของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อาทิ การปรับปรุงถนนเส้นทางหลัก แต่สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ยังไม่ปรากฏความชัดเจนมาก งานก่อสร้างในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-โคราช มีความคืบหน้าที่ 28.61%[1] โดยงานก่อสร้างที่ผ่านมาตลอด 6 ปี เต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายมากมาย ขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างในระยะที 2 ซึ่งจะเป็นเส้นทางจากโคราชถึงหนองคายยังไร้วี่แววของการเริ่มก่อสร้าง ประชาชนในพื้นที่มีจินตนาการ ความรู้สึก และการเตรียมตัวรับมือกับโครงการที่ไม่มีความแน่นอนนี้อย่างหลากหลาย บ้างก็เฝ้ารอว่าตนเองจะได้รับการเวนคืนหรือไม่ ขณะที่บางก็ต้องตระเตรียมแผนสำหรับการอพยพหรือรอเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตนเอง แม้แต่กลุ่มนักธุรกิจเองก็เฝ้ารอและเตรียมพัฒนาเพื่อให้ธุรกิจสอดรับต่อการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น 

 

[1] เดลินิวส์. 2566. จบปีที่6…ด้วยผลงานสร้าง28% รถไฟไฮสปีดสายแรกของไทยเข้าถึงเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567 https://www.dailynews.co.th/articles/3002611/

IMG_5672.HEIC
ภาพถ่ายหน้าจอ 2567-02-13 เวลา 09.48.40.png
IMG_7515.jpg
IMG_5720.HEIC


* ขอกราบขอบพระคุณเจ้าอาวาสวัดจอมมณี เจ้าหน้าที่ประจำสถานีรถไฟ ผู้ใหญ่บ้านหนองกอมเกาะ พี่กุ้ง รวมถึงท่านอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดหนองคายที่กรุณาสละเวลาและให้ข้อมูลแก่ทีมวิจัย

** ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566  ​

 

*** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย

bottom of page