STORIES from the Ground
ภาพฝันรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน : ชุมชน ปัญหาและการออกแบบ
กรณีตัวอย่างชุมชนตำบลบ้านใหม่ โคราช
China-Thailand Railway
การเปิดบริการของรถไฟความสูงจีน-ลาวในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า “จากภาพฝันสู่ความจริง” ความจริงนี้คือความจริงที่ว่า ประเทศลาวอันมีภูมิศาสตร์ที่ไร้ทางออกทะเลถูกพัฒนาให้กลายเป็นประเทศ Land link ที่กลายเป็นผู้เชื่อมเส้นทางการขนส่งผ่านโครงสร้างพื้นฐานอันทันสมัย ไม่ว่าการลงทุนในครั้งนี้จะต้องสูญเสียทรัพยากรในหลายรูปแบบก็ตาม ภาพลักษณ์ของการพัฒนาประเทศลาวนั้นถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน รวมถึงยังทำให้ประชากรในประเทศไทยที่เฝ้ารอรถไฟความเร็วสูงในประเทศตนเองมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
Photo by Kaikeo Saiyasane/Xinhua
ที่มาของภาพ http://www.news.cn/english/2021-12/03/c_1310350185.htm
การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของไทยแบ่งเป็นสองช่วง คือ เฟส 1 (กรุงเทพฯ-โคราช) และเฟส 2 (โคราช-หนองคาย) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างในเฟส 1 รัฐบาลได้ค่อยๆทำสัญญาการก่อสร้างกับบริษัทต่าง ๆ โดยมีสัญญาอยู่หลายฉบับ บางฉบับได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว ขณะที่บางช่วงอยู่ระหว่างการทำสัญญา และยังมีบางช่วงที่ต้องระงับเนื่องจากปัญหาอื่น ๆ เช่น กรณีฟ้องคัดค้านผลการประมูลสัญญา งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง กับช่วงปางอโศก-บันไดม้า ความยาว 30 กิโลเมตร การปรับแบบสถานีอยุธยาเนื่องจากกลัวว่าจะกระทบทัศนียภาพและความเป็นมรดกโลก เป็นต้น ตามที่กล่าวมานี้คือประเด็นที่จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกำลังพบกับความยากลำบากที่ต้องจัดการเพื่อบรรลุเป้าหมายอันสำคัญอย่างการสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนด
อย่างไรก็ตามในมุมมองของรัฐการเกิดสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่นี้จะเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่สร้างประวัติศาสตร์ที่อาจจะต้องแลกด้วยงบประมาณ ภาษีประชาชน พื้นที่ หรือแม้แต่ความเสียสละของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น การเกิดขึ้นของการก่อสร้างขนาดมหึมาอาจกลายเป็นฝันร้ายที่พวกเขาต้องเผชิญไปตลอดชีวิต
ชุมชนตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการออกแบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยอยู่ในพื้นที่ของการก่อสร้างสัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา เส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านนั้นมีลักษณะการออกแบบให้เป็นคันดินยกสูงระยะ 7.85 กิโลเมตร
จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน ลักษณะแบบคันดินดังกล่าวจะแบ่งชุมชนออกเป็นสองฝั่งก่อให้เกิดความลำบากเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสัญจรไปมาของผู้คนในชุมชน ซึ่งมีประชากรกว่า 40,000 คน ในพื้นที่ และอาจจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ชาวชุมชนสังเกตว่าเส้นทางรถไฟก่อนที่จะเข้าสู่ชุมชนตำบลบ้านใหม่นี้มีการออกแบบให้เป็นเสายกสูง บางพื้นที่เป็นพื้นที่ป่ามันสำปะหลัง ไม่มีชุมชน สามารถออกแบบทำการยกเสาสูงข้ามไป แต่ช่วงตำบลบ้านใหม่กลับเป็นแบบคันดินทอดยาวตลอดแนวพื้นที่ชุมชน และกลับไปสู่รางยกสูงเป็นตอม่ออีกครั้งในบริเวณสถานีตัวเมืองโคราช มีเพียงช่องอุโมงค์ทางลอดไม่กี่แห่งให้สัญจรข้ามฝั่ง ทำให้คนในชุมชนตำบลบ้านใหม่มองว่ามีความไม่สมเหตุสมผลในการออกแบบครั้งนี้ที่กำลังจะสร้างความเดือดร้อนต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา
นอกเหนือไปจากปัญหาในการออกแบบแล้ว นับตั้งแต่เริ่มมีการเคลียร์ที่ดินการก่อสร้าง คนในชุมชนเล่าว่า เดิมบริเวณดังกล่าวนั้นมีลักษณะเป็นแอ่ง โดยปกติหน้าฝน น้ำจะท่วมอยู่ที่อยู่แค่ระดับเข่า ไม่กี่วันก็แห้ง แต่หลังจากที่มีการเริ่มก่อสร้างโครงการนี้ กลับพบว่าน้ำท่วมสูงขึ้นในระดับหนึ่งเมตร อีกทั้งยังระบายได้ช้ายิ่งกว่าเดิม โดยข้อสังเกตนี้เป็นสิ่งที่คนในชุมชนมองว่า หากปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นได้ ในภายภาคหน้าซึ่งจะอยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จจนกลายเป็นคันดินมีรถไฟวิ่งพาดผ่านแล้วนั้น ปัญหาน้ำท่วมอาจจะหนักขึ้น แล้วพวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างไร
จากการเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้จึงได้เกิดการรวมตัวกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ 2020 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาของคนบ้านใหม่ การทำงานที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนโดยการให้ข้อมูลกับคนในชุมชนด้านผลกระทบ และการรวบรวมข้อมูล ตลอดจนได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ผู้ว่าราชการจังหวัด กรรมมาธิการวุฒิสภา เป็นต้น
ข้อเรียกร้องที่ทางกลุ่มและคนในชุมชนร่วมกันลงชื่อเพื่อขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขคือ การปรับแก้แบบจากเดิมที่เป็นกำแพงคันดินสูงทึบตลอดแนวช่วงตำบลบ้านใหม่ เปลี่ยนไปเป็น
การยกระดับตอม่อ ยกผ่านตั้งแต่ตำบลโคกกรวดและตำบลบ้านใหม่
หลังจากที่คณะวิจัยได้ลงพื้นที่พูดคุยกับสมาชิกกลุ่ม ยังพบประเด็นที่สำคัญคือ ปัญหาของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ก่อนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้ สมาชิกกลุ่มได้สะท้อนว่าประชาชนซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกลับไม่เคยได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ รวมถึงไม่รู้สึกว่าได้รับทราบกระบวนการหรือข้อมูลขั้นตอนการก่อสร้างอย่างละเอียดและจริงใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย
" ความเจริญผมอยากได้ แต่ความเสียหายของประชาชนผมไม่อยากได้ "
" ผมเก็บกดมานานคือกันนะ ไปประชุมกับรถไฟ ผมอยากพูดอยู่นะวันนั้นน่ะ แต่เขาระงับ เขาไม่ให้เวลาผมเล้ย พูดได้คนเดียว แล้วเขาก็บอกว่าพอ คือผมก็อึดอัดนะ เพราะบ้านผมตั้งแต่เกิดมาจนผมจะอายุหกสิบละ บ้านผมต้องถูกแยกออกเป็นสองส่วน มันไม่ใช่ แล้วคุณก็ไม่เคยมาถามประชาชนว่าเดือดร้อนมั้ย อยู่ๆ คุณเอามาลงตู้มๆ ผมก็ต้องดิ้นรน เพื่อชาวบ้าน "
"ชุมชนเราส่วนมากใช้มอไซต์ไปทำงานโรงงานแล้วเขาต้องสัญจรผ่านอุโมงค์ คุณว่าอันตรายมันจะเกิดขึ้นมั้ย เพราะเด็กผู้หญิงขี่มอเตอร์ไซต์ คนเดียว แต่ถ้าเราเป็นพื้นที่โปร่ง มีแสงไฟสว่าง อุโมงค์นิไม่รู้ว่าไฟมันจะดับตอนไหน ไม่รู้น้ำมันจะท่วมตอนไหน แล้วเด็กคือ ลูกสาวเราที่ทำงานอยู่กะดึก จะไปกันยังไง จะเกิดโจรฉุกชุมขึ้นไหม เขาไม่คำนึงถึงตรงนั้น"
"การทำอีไอเอบ้านเราเขามักจะเชิญไปคุยที่โรงแรม แล้วมีไม่กี่คน ... แล้วฉายไสลด์ให้ดู งง บอกตรงๆ นึกไม่ออก จริงๆ อีไอเอ ต้องลงมาสัมผัสในพื้นที่ เพื่อรับทราบข้อมูลเรื่องภูมิประเทศ ประชากรเขาอยู่กันแบบไหน อันนี้ไม่มี..."
"ทุกครั้งที่มีการประชุมสัมนา แต่มันไม่มีการทบทวนข้อมูลคืนกลับมา ไม่รู้มันมีข้อมูลที่เราพูดครั้งที่แล้วรึเปล่า ประชาพิจารณ์ไปแล้วมีคำพูดเราไหม ผมรู้สึกว่าการประชาพิจารณ์เราไม่รู้ผลการประชุมครั้งที่แล้วเลย"
"บริษัทที่มาทำอีไอเอ เขาก็จะเชิญไปที่ศูนย์กลาง ระยะเวลาที่จะทำประชาคม เริ่มเก้าโมงเช้า แล้วให้ผู้ว่าฯ มาเปิด ให้การรถไฟมาอธิบายขั้นตอนวิศวกรรม กินเวลาไปตั้งเยอะแยะแล้ว เสร็จแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นเปิดให้พี่น้องประชาชนได้สอบถามปัญหา ครึ่งชั่วโมง เที่ยงเลิกแล้ว ทานข้าวเที่ยงกลับบ้าน เพราะฉะนั้นมันไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน"
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กำลังเดินหน้าก่อสร้าง ท่ามกลางเสียงสะท้อนของชุมชนตำบลบ้านใหม่เพื่อขอให้แก้ไขแบบก่อสร้างที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพวกเขา สมาชิกกลุ่มย้ำกับคณะวิจัยว่า พวกเขาไม่ได้ต่อต้านการมีรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่จังหวัดโคราช เพียงแต่ต้องการเคลื่อนไหวเพื่อขอให้มีการแก้ไขแบบก่อสร้างที่คำนึงถึงความมั่นคง ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อการดำรงชีวิตของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
กรณีของชุมชนบ้านใหม่ เป็นหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการวางแผน ออกแบบและรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม และไม่เป็นการกีดกันใครออกจากการใช้ประโยชน์ของโครงการนั้นๆ
***
* ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566
** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย
ผานิตดา ไสยรส
หัวหน้าโครงการ
ปลายฟ้า นามไพร
ผู้ช่วยวิจัย
วิษณุ ดวงปัน
ผู้ช่วยวิจัย