top of page
20220117_105828.jpg

STORIES from the Ground

ไล่รื้อ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง


โครงการการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อยู่ในช่วงของการดำเนินการในช่วงที่หนึ่ง หรือเส้นทางจากกรุงเทพมหานครมาถึงนครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร งบประมาณ 1.796 แสนล้านบาท ในส่วนของการก่อสร้างนั้นยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก และมีความล่าช้าที่มาจากปัญหาผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดินเพิ่งจะมีการประกาศใช้ อย่างไรก็ตามการก่อสร้างในครั้งนี้กินพื้นที่ของชุมชนอยู่หลายจุดที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่วิ่งผ่าน

 

ชุมชนประสพสุข อยู่ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในชุมชนที่ถูกไล่รื้อจากการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในพื้นที่สัญญาการก่อสร้าง 3-5 เดิมชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ของการรถไฟ เมื่อสองปีที่แล้ว ชุมชนแห่งนี้ไม่เคยรับทราบว่าตนเองนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกไล่รื้อ

20220117_100326.jpg

พี่นิยม ผู้ให้ข้อมูลและกลุ่มเครือข่ายริมรางย่าโม

“… จริง ๆ ชาวบ้านไม่รู้หรอก ประมาณต้นปีที่แล้วต้นปี 63 ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีโครงการนี้ขึ้นมา โดยที่ไม่รู้เพราะว่า การรถไฟไม่ได้มาบอกเรา และผู้รับเหมาวิศวกรที่มาสำรวจมาก็สำรวจแต่ฝั่งนู้น ชุมชนฝั่งตะวันออกไม่รู้นึกยังไงไม่รู้ไปประชุมกับเขา โดยที่เขาไม่ได้เชิญ…เลยสงสัยว่าทำไมของเราเลียบนคร ประสบสุข ไบเล่ หลังจวนจะโดนก่อน ทำไมเขาไม่เอ่ยชื่อชุมชนเราเลย  ด้วยความสงสัยก็เลยยกมือถามเขาเลยเขาบอกว่า เขาบอกว่าไม่รู้ข้อมูล ผมบอกว่าไม่รู้ข้อมูลได้ไงในเมื่อบ้านผมโดนก่อน” พี่นิยม เจ้าของคณะลิเกที่อาศัยอยู่ในประสพสุขกล่าว 

เสียงสะท้อนจากชุมชนริมรางโคราชพ่อนิยม
00:00 / 01:06
20220117_115751.jpg

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนประสพสุขนักอย่าง ชุมชนเลียบนคร เป็นชุมชนริมรางรถไฟอีกหนึ่งในชุมชนที่ถูกไล่รื้อ ชุมชนนี้เหลือเพียง 3 ครอบครัวเท่านั้น ก่อนหน้านี้ชุมชนอยู่กันหนาแน่นจนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งให้ย้ายออก โดยมีเงื่อนไขว่าหากไม่ย้ายนั้นจะมีเจ้าหน้าที่มาจับกุม พื้นที่โดยรอบของชุมชนในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่โล่งๆที่ถูกปรับหน้าดินสำหรับเตรียมการดำเนินการก่อสร้าง

 

“ตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาเข้ามา โดยเขาไม่ได้แจ้งเราเข้ามาบอกเราว่าให้เวลารื้อภายใน 3 เดือน เราบอกว่ารื้อใน 3 เดือนไม่ได้เดี๋ยวขอเวลาก่อน พอต่อมาอีกซัก 1 เดือน มาอีกบอกให้รื้อภายใน 1 อาทิตย์ ย้ายออกไป ถ้าไม่ย้ายผมจะเอาตำรวจมาจับคุณ” พี่ชงผู้อาศัยในชุมชนเลียบนครยังกล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น การเสนอเงินให้กับพี่ชงคนเดียวเพื่อให้ออกจากพื้นที่โดยเลือกที่จะไม่กระจายค่าชดเชยให้กับครอบครัวผู้เดือดร้อนคนอื่น ๆ การถมที่ดินรอบ ๆ จนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ้านที่ไม่ยอมโดนรื้อ การเกรดดินใส่จนชิดกับผนังบ้าน ไปจนถึงการทะเลาะเบาะแว้งกับผู้รับเหมาชาวจีน โดยพี่ชงมองว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการสร้างปัญหาเพื่อบีบคั้นให้ย้ายออกทางอ้อม

เสียงสะท้อนจากผู้ถูกไล่ลื้อพี่ชง
00:00 / 00:44
20220117_115650.jpg
ชุมชนที่ถูกไล่รื้อในเขตตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมานอกไปจากชุมชนประสพสุข ชุมชนเลียบคร ยังมีชุมชนไบเล่หลังจวนผู้ว่าฯ ชุมชนราชนิกูล 1 ชุมชนราชนิกูล 3 ชุมชนเบญจรงค์ ชุมชนทุ่งสว่าง – ศาลาลอย โดยทางออกของการแก้ปัญหาในครั้งนี้ชุมชนได้ร่วมมือกับพอช.หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เรียกร้องให้การรถไฟช่วยเหลือสำหรับครอบครัวที่ถูกไล่รื้อ ซึ่งก่อให้เกิดโครงการบ้านมั่นคงเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม โดยทำการขอเช่าที่ดินแปลงใหม่บริเวณบ้านพะไล ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมาจากการรถไฟนั่นเอง โดยโครงการดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างการเซ็นสัญญา ซึ่งหากการอนุมัติเกิดขึ้นจึงจะถึงเวลาของการโยกย้าย

“อยากให้อนุมัติให้เร็วที่สุด อยากเข้าพื้นที่แล้ว ทีแรกขอเข้าพื้นที่ก่อนเขาบอกต้องรอหนังสือถึงเข้าได้ พอลีลามากๆ เราก็บอกแล้วแต่เถอะ ทำได้ก็ทำไปเถอะแต่ฉันไม่ย้ายนะ” พี่ชงกล่าว

20220117_112436.jpg
ในกรณีของผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาของการเวนคืนที่ดินจะชัดเจนว่าเป็นเรื่องของราคาที่รัฐบาลต้องจ่ายหรือมีข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างผู้ถูกเวนคืนและรัฐ แต่สำหรับผู้อาศัยในพื้นที่ชุมชนแออัดและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน พวกเขาเหล่านี้กลับถูกตีตราในฐานะผู้บุกรุกพื้นที่ของรัฐ พร้อมกับการขับไล่ของเจ้าหน้าที่และสายตาของประชาชนภายนอกที่ต้องการให้พวกเขาออกไปจาก “บ้าน” ที่อยู่อาศัยเพื่อให้การพัฒนาของประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น ประการที่สำคัญคือ การพิจารณาพวกเขาเหล่านี้ในฐานะ “ ผู้บุกรุก” ก่อให้เกิดการละเลยในฐานะพลเมืองของประเทศและความเป็นมนุษย์ที่ถูกทำลายด้วยความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
20220117_114449.jpg
ความรุนแรงเชิงโครงสร้างคืออะไร ความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือ ความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้การเกิดขึ้นของระบอบทุนนิยมและกลไกลของรัฐ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อความไม่เท่าเทียมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม การไม่มีที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความยากจน” (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ) ซึ่งเป็นความรุนแรงที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคม ความเลื่อมล้ำที่ผู้คนมองว่าเป็นความปกติและไร้ซึ่งความเข้าอกเข้าใจต่อผู้อื่น 

อ้างอิง

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. 2564. ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ในมิติมานุษยวิทยา. เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2565 จาก https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/271 ​

พื้นหลังสีขาว

* ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566 

** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย

119212230_10223328381540806_2794295216998421709_n.jpg

ผานิตดา ไสยรส

หัวหน้าโครงการ

9316.jpg

ปลายฟ้า นามไพร

ผู้ช่วยวิจัย

274749713_323562099592855_47037268023789097_n.jpg

วิษณุ ดวงปัน

ผู้ช่วยวิจัย

bottom of page