top of page
IMG_6575.HEIC

ไฉไลในประเทศลาว (2)
ตอนนาเตย

เมืองชุมทางและการมีสถานีรถไฟที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนในชุมชน

สถานีหลักของรถไฟลาว-จีน มี 32 สถานี แบ่งเป็นสำหรับขนส่งสินค้า 22 สถานี และรับส่งผู้โดยสาร 10 สถานี มีสถานีหลัก 5 สถานี ได้แก่ เวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง นาเตย และบ่อเต็น  ทั้งห้าสถานีหลักนี้มีความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ตั้งอยู่ในเมืองหลวง จึงเป็นสถานีที่มีผู้คนพลุกพ่านมากที่สุด เป็นทั้งต้นสายและจุดหมายปลายทางของใครหลาย ๆ คน สถานีวังเวียงใช้เวลาเดินทางออกจากสถานีเวียงจันทร์เพียง 1 ชั่วโมง เป็นอีกจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติผจญภัย และยังมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามล้อมรอบสถานี สถานีหลวงพระบาง เมืองสำคัญทางมรดกโลก ที่หลาย ๆ คนอยากมาเพื่อซึมซับบรรยากาศเมืองเล็ก ๆ ริมน้ำโขงและแม่น้ำคานพร้อม ๆ กับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน สำหรับสถานีนาเตย เมืองเล็ก ๆ ที่แตกต่างไปจากทุก ๆ สถานีหลัก แต่เป็นเมืองเชื่อมต่อหรือ “ชุมทาง” ที่จะสามารถเดินทางไปยังเมืองสำคัญอื่น ๆ เช่น เมืองสิงห์ หลวงน้ำทา บ่อเต็น บ่อแก้ว ห้วยทราย เป็นต้น และสถานีบ่อเต็นสุดสายชายแดนลาว-จีน สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปมาระหว่างประเทศและเดินทางไปต่อกับรถไฟความเร็วสูงโมฮาน-คุนหมิง ทั้งนี้ นักเดินทางยังสามารถมาพักผ่อนไปกับบรรยากาศของเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษของบ่อเต็นได้ ซึ่งเราจะเล่าในครั้งถัดไป

หนึ่งในปลายทางสำคัญที่โครงการวิจัยต้องการมาสำรวจในครั้งนี้คือสถานีรถไฟนาเตย ประเด็นตั้งต้นที่เป็นจุดริเริ่มในการเดินทางมาลาวของพวกเราคือ หมู่บ้านจัดสรรที่รัฐบาลลาวได้ชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ตามที่กล่าวไปในข้างต้นสถานีนาเตยเป็นจุดเชื่อมที่สามารถเดินทางไปต่อได้ในหลาย ๆ แห่ง เราเดินทางจากเวียงจันทน์มาที่นาเตยด้วยรถไฟใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งหากนั่งต่อไปอีก 15 นาทีจะถึงสถานีบ่อเต็น เมื่อมาถึงสถานีเราพบว่า สถานีนั้นอยู่ติดกับชุมชนมาก ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ด้วยรถมอเตอร์ไซต์เราก็มาถึงที่พักได้เลย ตัวชุมชนมีขนาดเล็ก แต่ถูกเรียกเป็นสองส่วนคือนาเตยเก่า และนาเตยใหม่ ถูกแบ่งโดยลำคลองและกลุ่มผู้อยู่อาศัย สำหรับคนเก่า ๆ เสมือนคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่มาเนิ่นนาน ส่วนคนกลุ่มใหม่ที่อพยพเข้ามาก็จะอาศัยอยู่อีกฝากของลำคลอง แต่ในปัจจุบันมีการโยกย้ายกันจำนวนมาก รวมถึงการสร้างบ้านที่อยู่รวมกัน ทำให้ไม่สามารถแยกกลุ่มเก่ากลุ่มใหม่ได้อย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งนอกไปจากประชากรชาวลาวและยังมีชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ขมุ ไทดำ ไทยลื้อ ผู้น้อย เป็นต้น และยังมีคนจีนที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในนาเตยตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วด้วย

IMG_6042 2.HEIC

ตัวชุมชนแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ถนนเส้นหลักสำหรับสัญจรผ่านชุมชนมีขนาดกว้างและอยู่ในสภาพดี มีร้านขายของชำและร้านอาหารเรียงรายตามถนนเส้นหลัก ส่วนที่เป็นร้านอาหารใหญ่ ๆ มักเป็นร้านของคนจีน รวมถึงที่พักมากมายที่มีเจ้าของเป็นทั้งคนจีนและคนลาว มีโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแยกออกจากกัน บรรยากาศของชุมชนในยามเช้าและเย็นค่อนข้างแตกต่างกันอย่างชัดเจน พวกเราสังเกตุว่าในยามพลบค่ำชาวชุมชนมักจะออกมาเดินจับจ่ายซื้ออาหารและสินค้า และหวยลุ้นโชคที่จะมาเปิดขายริมถนน ส่วนของสถานีรถไฟเราพบกับเด็กวัยรุ่นจำนวนมากมาออกกำลังกาย ตีแบดมินตัน วิ่งออกกำลัง และรวมตัวโชว์เทคนิคการแว๊นรถมอเตอร์ไซต์ เป็นพื้นที่นั่งเล่นพูดคุยของวัยรุ่นหนุ่มสาว และตัวอาคารสถานี ได้กลายเป็นพื้นที่ถ่ายรูปของพวกเรา

IMG_6654.HEIC

สำหรับการเดินทางไปสำรวจสำรวจหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนนาเตยราว ๆ 3 กิโลเมตร เราเลือกขอความช่วยเหลือจากครูโรงเรียนนาเตยหรืออ้ายแสง (นามสมมุติ) ให้พาไปสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ อ้ายแสงและลูกชายมาพร้อมกับมอเตอร์ไซต์คนละคันเพื่อรับพวกเราเดินทางไปยังหมู่บ้านจัดสรรในถนนเส้นตัดใหม่ ลูกชายของอ้ายแสงอธิบายว่า ทั้งถนนและสะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยโครงการรถไฟลาว-จีน มีการก่อสร้างปรับปรุงถนนตลอดเส้นทางเนื่องจากถนนของเส้นทางเดิมถูกสถานีรถไฟตัดไปแล้ว จึงมีการก่อสร้างถนนเส้นใหม่เพื่อให้รถสามารถสัญจรข้ามไปมา ซึ่งเป็นถนนที่จะสามารถเดินทางไปยังห้วยทราย บ่อแก้ว และเข้าทางเหนือของประเทศไทย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ดังนั้นเส้นทางนี้จะมีรถบรรทุกวิ่งผ่านอยู่ตลอดเวลาด้วยความเร็วสูง เราสังเกตได้ว่า ตลอดเส้นทางที่จะไปบ้านจัดสรรนั้น สภาพถนนค่อนข้างดี อาจเนื่องด้วยเป็นถนนใหม่เพิ่งสร้างได้ไม่ถึงปี แต่กลางคืนก็คงจะน่ากลัวพอสมควรเพราะไม่มีไฟตามเส้นทางเลย 

บ้านจัดสรรอยู่ใจกลางหุบเขา เราจอดรถบริเวณเนินเขาก่อนลงไปถึงหมู่บ้านซึ่งจัดเป็นจุดที่สามารถมองเห็นหมู่บ้านทั้งหมดได้ ลักษณะหมู่บ้านคล้ายบ้านจัดสรรทั่วไปที่ให้พื้นที่รอบด้านค่อนข้างใหญ่ หลังคาสีแดงตัดกับตัวบ้านสีขาวเรียงกันเป็นแนวยาว ซ้อนกันหลายแถว จานดาวเทียมถูกติดให้กับทุกหลังคาเรือน มีอาคารสูง 1 ชั้น แนวยาวสามแห่งถูกสร้างขึ้นเป็นโรงเรียน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน บริเวณหน้าอาคารเรียนมีป้ายหินที่แสดงถึงข้อมูลงานก่อสร้าง ระบุว่าโครงการนี้เป็นโครงการช่วยเหลือก่อสร้างบ้านจัดสรรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดของโครงการที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าของโครงการเป็นกระทรวงพานิชย์จีนและกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของลาว มีบริษัทต่าง ๆ จากจีนเข้ามาช่วยเหลือทั้งการจัดการ ออกแบบ ดูแลโครงการ ภายใต้การเป็น “CHINA AID FOR SHARED FUTURE” จากรัฐบาลจีน 

ส่วนบรรยากาศของหมู่บ้านยังเป็นลักษณะหมู่บ้านร้าง ๆ ที่มีผู้คนอยู่ไม่เยอะนัก บ้านแทบทุกหลังที่มีคนอยู่มีการต่อเติมให้เห็นอยู่ในหลายหลังคาเรือนโดยการต่อเติมในที่นี้ส่วนใหญ่เป็น พื้นที่ครัว ที่เลี้ยงสัตว์ ที่เก็บฟืน ห้องน้ำนอกบ้าน เป็นต้น ไม่มีต้นไม้ หรือเสาไฟที่ให้แสงสว่างตามทางของหมู่บ้าน ครอบครัวของอ้ายแสงเป็นหนึ่งในผู้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินจึงได้บ้านจัดสรรมาหนึ่งหลังคาเรือนอย่างไรก็ตาม พวกเราสังเกตุว่าหมู่บ้านจัดสรรนี้กลับไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยมากนัก 

หลังจากสำรวจหมู่บ้านจัดสรร อ้ายแสงพาเราไปดูบ้านเก่าที่ถูกเวนคืน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านจัดสรรประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากรั้วของการรถไฟไม่ถึง 50 เมตร บ้านของอ้ายแสงเป็นบ้านที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ เหลือเพียงการใส่ประตู หน้าต่าง และทาสีเท่านั้น เมื่อบ้านสร้างไปประมาณ 70% มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า ขอให้หยุดการก่อสร้างเนื่องจากจะเป็นพื้นที่เวนคืน จากนั้นก็มีการเรียกประชุมอยู่หลายครั้งสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ 

IMG_6651.HEIC

“… ถ้ารู้ว่านาเตยจะพัฒนาได้ขนาดนี้ จะหาเงินซื้อที่ดินไว้เยอะ ๆ ” อ้ายแสงพูดขณะพาพวกเราเดินสำรวจชุมชนนาเตยในตอนเย็น ความเปลี่ยนแปลงของนาเตยถูกอธิบายผ่านคำพูดของอ้ายแสงได้เป็นอย่างดี ในทัศนะของอ้ายแสงชุมชนนาเตยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วหลังจากมีการเกิดขึ้นของสถานีรถไฟ ราคาของที่ดินที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว ถนนเส้นเดิมที่ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น ถนนเส้นใหม่ ๆ ที่ตัดผ่านเพื่อทำให้เกิดความสะดวก ร้านอาหาร และลานว่างของบ้านหลาย ๆ หลังถูกเปิดเป็นที่รับฝากรถสำหรับคนที่อยากเดินทางไปส่วนต่าง ๆ ของประเทศโดยรถไฟ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ยังไม่รวมกับอาชีพใหม่ ๆ ที่เด็กในชุมชนสามารถทำรายได้และอาชีพ ตัวอย่างสำคัญคือ ลูกของอ้ายแสงเองก็ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับบริษัทของการรถไฟ ภายใต้บริษัท Frontier Security Services

การเดินทางมาที่นาเตยครั้งนี้ พวกเราพบว่าการเกิดขึ้นของสถานีรถไฟนาเตยปรับเปลี่ยนนาเตยจากชุมทางผ่านทั่วไปกลายเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น แม้แต่นักลงทุนชาวไทยอย่างนายวิกรม กรมดิษฐ์ ก็มีการพัฒนาโครงการอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ หรือเมืองทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในนาเตย[1]

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวได้สร้างผลกระทบในหลาย ๆ รูปแบบ การเวนคืน โยกย้าย การต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ระหว่างทางที่เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ประชาชนในพื้นที่ก็ผูกโยงตนเองไปกับรถไฟที่วิ่งพาดผ่านมาทั้งในเชิงกายภาพและจินตนาการพร้อมทั้งการนิยามพื้นที่ของรถไฟในรูปแบบใหม่ ๆ ในครั้งถัดไปเราจะพาผู้อ่านเดินทางไปยังสถานีรถไฟบ่อเต็น สุดสายปลายทางรถไฟลาว-จีน จุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างสองประเทศ ที่จะเป็นจุดเชื่อมจินตนาการตามชื่อพื้นที่อย่าง “บ่อเต็นแดนงาน”

[1]อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์. 2565. ‘สมาร์ทซิตี้ไทย’ อยู่ตรงไหนในบริบทโลก. เข้าถึงเมื่อ 16 สิงหาคม 2566 จาก https://www.the101.world/thai-smart-city-and-the-world/

* ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566 

** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย

119212230_10223328381540806_2794295216998421709_n.jpg

ผานิตดา ไสยรส

หัวหน้าโครงการ

DSC09710.JPG

ปลายฟ้า นามไพร

ผู้ช่วยวิจัย

311048144_824226945430716_9073000480974242341_n.png

Kesone Kanhalikham

ผู้ช่วยวิจัย

bottom of page