top of page

ชุมทาง ‘นาเตย’ ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนสู่
เมืองอุตสาหกรรมในอนาคต

IMG_5254.heic

“น้ำทาบ่ เมืองสิงห์ แท็กซี่ รถตู้บ่” เสียงเรียกจากคนขับรถที่กำลังเรียกหาผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง นี่คือบรรยากาศความวุ่นวายเพียงไม่กี่สิบนาทีหลังจากที่พวกเราเดินออกจากสถานีนาเตย สถานีรถไฟนาเตยเป็นสถานีก่อนถึงสถานีชายแดนบ่อเต็น และเป็นเมืองผู้โดยสารส่วนใหญ่มาลงเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองต่าง ๆ ใกล้เคียง เช่น เมืองสิงห์ เมืองน้ำทา เมืองต้นผึ้ง สามเหลี่ยมทองคำ เป็นต้น ช่วงเวลาที่สถานีจะมีรถจำนวนมากมารอรับ-ส่งผู้โดยสารคือเวลาประมาณสิบเอ็ดโมงจนถึงบ่ายสามเท่านั้น ในครั้งที่แล้ว เราได้นำเสนอบริบทของนาเตยและผลกระทบในหลาย ๆ รูปแบบ การเวนคืน โยกย้าย การต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่ ผ่านไฉไลในประเทศลาว (2) ตอนนาเตย (ดูเพิ่ม https://www.chinaseasia.net/storiesoflaos2) ในครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอความเปลี่ยนแปลงในรอบหกเดือนหลังจากการลงพื้นที่ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2566 และครั้งนี้ในเดือนตุลาคม 2566

หลังจากลงสถานีพวกเราเลือกเดินมายังชุมชนนาเตยเพื่อมาพักโรงแรมชาวจีนที่เคยมาพักในครั้งที่แล้ว รอบสถานีเราพบความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง พวกเราพบว่า มีร้านอาหารเปิดใหม่ถึงสองร้าน ร้านแรกอยู่ติดกับรั้วด้านในของสถานี ส่วนอีกร้านอยู่ด้านนอกแต่ไม่ไกลจากตัวสถานีมากนัก ระหว่างทางที่เดินออกจากสถานีนี้พวกเราเลือกเดินผ่านทะลุชุมชนเข้าไป เพราะส่วนหนึ่งเราไม่รู้ว่ามีรถรับส่งโดยสารระยะใกล้หรือไม่ (เกือบ 2 กิโลเมตร) เพราะส่วนใหญ่แล้วจะมีเพียงรถรับส่งระยะไกล หรือแท็กซี่เหมาไประยะไกลเท่านั้น เช่น คนละ 60,000 กีบสำหรับรถตู้ คนละ 100,000 กีบสำหรับรถเก๋ง นั่งได้ห้าคน และ 500,000 กีบสำหรับเหมา ไปที่หลวงน้ำทา เป็นต้น ระหว่างทางที่จะไปพวกเราหลงทางและเดินผ่านบ้านผู้คน มีเด็ก ๆ วิ่งเล่นกันอยู่หน้าบ้านของพวกเขา พวกเราในฐานะคนต่างถิ่นมองดูผู้คนที่นี่และบ้านเรือนของพวกเขาด้วยความตื่นตาตื่นใจ แต่พวกเรากลับไม่ได้รู้สึกถึงการถูกมองด้วยสายตาที่แปลกประหลาดหรือสงสัยจากชาวชุมชน พวกเรารู้สึกว่าทุกคนดูคุ้นชินกับการที่มีคนแปลกหน้าเดินทะลุบ้านไปมา มีเพียงพวกเราเสียอีกที่ยังไม่คุ้นกับสถานที่และผู้คนที่นี่ 

ภายในชุมชนเราสังเกตได้ว่ามีร้านอาหารใหม่ ๆ เกิดขึ้น ร้านเก่า ๆ ยังคงอยู่ ถนนเส้นกลางยังคงถูกครองด้วยชาวจีนอพยพที่มาทำธุรกิจเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ทั้งร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านขายวัสดุอุปกรณ์ และในตลาดเองก็มีชาวจีนไปเปิดร้านขายของปะปนอยู่กับชาวลาว ขณะที่โซนใกล้สถานีนั้นเป็นชาวนาเตยเก่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ขณะที่กลางชุมชนเป็นชาวนาเตยใหม่ที่อพยพเข้ามา ส่วนที่ห่างออกไปเป็นถนนเส้นใหม่สำหรับเดินทางไปยังบ่เต็น จากการเดินสำรวจ และลองใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนในระยะเวลาสั้นๆ และลองฝากท้องกับร้านอาหารต่างๆ พวกเราสังเกตว่ามีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้นทั้งของคนลาวและคนจีน อาทิ ร้าน ปิ้งย่างหมาล่า ร้านจิ้นดาด ร้านอาหารจีนฟูเจี่ยน ร้านเฝอและอาหารตามสั่ง ฯลฯ

IMG_7745.jpg

หากออกไปตามเส้นทางถนนใหม่ นอกหมู่บ้านที่เป็นเขตชุมชน พวกเราพบบริเวณที่ว่างเปล่าที่กลายเป็นที่ทิ้งขยะ และบริเวณใกล้เคียงมีการตัดต้นไม้ออกเป็นลานกว้างๆ คนที่นั้นบอกพวกเราว่าพื้นที่ตรงนี้คือจุดที่จะมีโครงการอมตะซิตี้ นาเตยโดยบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน ได้ลงนามสัมปทานกับสปป.ลาว ตามนโยบายของโครงการคือการมุ่งเน้นสร้างเมืองทันสมัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ดินเหล่านี้เดิมเป็นพื้นที่ป่ายางพารา (รอบ ๆ ก็ยังคงเป็นอยู่) และทำการซื้อที่ดินจากชาวบ้านหลาย ๆ คนรวมกันเป็นผืนใหญ่ผ่านนายหน้าคนกลางชาวลาวเข้ามาติดต่อในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่กำลังจะเริ่มมีโครงการเป็นลานกว้าง หน้าดินเป็นสีดำเนื่องจากดินเป็นถ่านหินคุณภาพระดับสาม ซึ่งเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ ทั้งนี้โครงการฯ มีการประชาคมว่าจะให้ลูกหลานของคนที่ขายที่ดินให้ ได้เข้าทำงานในโรงงานเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งโรงงานแรกในอนาคตน่าจะเป็นโรงงานยางพารา – ตามคำบอกเล่าของอ้ายแสง ผู้ให้ข้อมูล

IMG_5257.heic

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของ www.amata.com โครงการเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ. 2565 ความสำคัญจะเป็นยุทธศาสตร์เชิงที่ตั้งของโครงการคือ พิกัดติดกับสถานีรถไฟนาเตยซึ่งสะดวกต่อการเดินทางไปสถานีรถไฟจีน-ลาว และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นประเทศจีน ประเทศไทย และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังนำเสนอการอยู่ภายใต้พื้นที่ของแขวงหลวงน้ำทา “พรมแดนทางบกยาว 140 กิโลเมตรติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือติดกับพม่า เป็นพรมแดน 130 กิโลเมตรที่ทอดยาวไปตามแม่น้ำโขงและแขวงอุดมไซของลาว มีหลวงน้ำทาเป็นเมืองเอก” (https://www.amata.com/th/our-location/laos) เนื่องด้วยตำแหน่งที่ตั้งซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญรายล้อมนาเตยมากมายเป็นส่วนสำคัญอันสามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากยิ่งขึ้น และถือเป็นโอกาสสำคัญของชุมชนนาเตยที่ยังคงต้องเฝ้ารอว่า โครงการก่อสร้างนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงของชุมชนชุมทางนาเตยเป็นไปในทิศทางใด

ภาพถ่ายหน้าจอ 2566-11-09 เวลา 12.05.14.png

ที่มาภาพจาก https://www.amata.com/our-location/laos/nateuy

ไม่ไกลจากโครงการอมตะซิตี้เป็นหมู่บ้านจัดสรรของผู้ที่ได้รับการเวนคืนจากโครงการก่อสร้างรถไฟ ในช่วงเย็นพวกเราได้เข้าไปสำรวจรอบชุมชนอีกครั้ง ปัจจุบันมีผู้เข้าพักอาศัยเยอะขึ้นจากเดิมที่มีประมาณ 20 หลังคาเรือน ตอนนี้มีเข้ามาอยู่เพิ่ม 50 หลังคาเรือน ทำให้หมู่บ้านดูมีชีวิตชีวามากขึ้นจากครั้งก่อน บ้านหลาย ๆ หลังเริ่มมีการต่อเติมมากขึ้นและใหญ่ขึ้น ทำให้ดูกว้างขวางและมีความโอ่อ่ามากขึ้น บางบ้านติดตั้งเครื่องปรับอากาศแล้ว บ้านหลายหลังมีการจัดสวนเล็กๆ รอบบ้าน บางบ้านที่ต่อเติมก็ตั้งใจจะเปิดเป็นร้านขายของและเครื่องดื่ม บ้านหลาย ๆ หลังก็มีการเปลี่ยนมือไปบ้าง ทั้งการขายและปล่อยเช่า อย่างไรก็ตาม ผู้ให้ข้อมูลเล่าว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางคนไม่ค่อยชอบใจบ้านจัดสรร ไม่ยอมย้ายเข้ามาเพราะบ้านจัดสรรนี้อยู่ใกล้กับป่าช้าใหม่ของชุมชน 

ทั้งนี้  ป่าช้าเดิมคือพื้นที่ของสถานีรถไฟ ก่อนมีการก่อสร้าง ได้มีการเชิญหมอมาทำพิธี มีการย้ายป่าช้าไปอยู่อีกแห่ง ซึ่งป่าช้าแห่งใหม่ตั้งอยู่ใกล้กันกับหมู่บ้านจัดสรรนั่นเอง แม้แต่อ้ายแสง (ผู้ให้ข้อมูล) ก็คิดว่าจะดูท่าทีและลูกชายที่ไปเรียนภาษาจีนในตอนนี้ว่าเขาจะทำอะไร บ้านที่ได้รับมาในตอนนี้ซึ่งให้คนเช่าอยู่ ก็อาจจะขายหรืออาจจะเก็บไว้เป็นมรดกของลูกชายต่อไป หรืออาจจะได้ปล่อยให้คนงานมาเช่าหากโรงงานของอมตะสร้างเสร็จ

ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากการเดินทางมาครั้งนี้ พวกเราพบว่าผู้คนที่นาเตยต่างกำลังพยายามแสวงหาโอกาส และความเป็นไปได้ต่างๆ ในการดำเนินชีวิตต่อไปท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  ความศิวิไลซ์และโครงสร้างพื้นฐานได้เข้ามาปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของพวกเขาแล้วอย่างชัดเจน อีกทั้งยังคอยกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยเหล่านี้ต้องคาดการณ์ล่วงหน้าถึงปัญหาหรือโอกาสต่างๆ ตามวิถีและเงื่อนไขของตนเอง เพื่อรับมือกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในชุมชนอีกมายมาย

* ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่อสาธารณะภายใต้ โครงการ “รถไฟจีนข้ามพรมแดน : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางรถไฟต่อชุมชนรอบสถานีหลักในประเทศไทยและลาว ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ 2564 - 2566 

** ปัจจุบันโครงการวิจัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ไม่ใช่ข้อสรุปผลการวิจัย

119212230_10223328381540806_2794295216998421709_n.jpg

ผานิตดา ไสยรส

หัวหน้าโครงการ

DSC09710.JPG

ปลายฟ้า นามไพร

ผู้ช่วยวิจัย

311048144_824226945430716_9073000480974242341_n.png

Kesone Kanhalikham

ผู้ช่วยวิจัย

bottom of page